คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา887ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อเป็นความวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเมื่อโจทก์กล่าวบรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่อ.ขับประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายโดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้คือใครและอ.ขับรถยนต์คันนั้นในฐานะอะไรหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยอันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดของอ.จำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนย่อมไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่าผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับอ.ด้วยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างไรและย่อมไม่อาจให้การต่อสู้คดีของโจทก์ได้คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา172วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1จ-7211 กรุงเทพมหานคร จากนายมงคล ศรีมณีรุ่งโรจน์จำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน70-0803 กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531นายเอกชัย ดิษฐ์ครองวงษ์ ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1จ-7211 กรุงเทพมหานคร ไปตามถนนสุขสวัสดิ์จากทางด้านกิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ มุ่งหน้าไปทางสามแยกพระประแดง โดยขับอยู่ช่องเดินรถด้านขวามือชิดกับเกาะกลางถนน ในเวลาเดียวกันนั้น นายโอภาส จันทวิชได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70-0803 กรุงเทพมหานครมาตามถนนสุขสวัสดิ์จากทางด้านสามแยกพระประแดงมุ่งหน้าไปทางกิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เมื่อนายโอภาสขับรถมาถึงหน้าโรงงานบางกอกเคเบิล บริเวณดังกล่าวมีช่องทางระหว่างเกาะกลางถนน นายโอภาสจะเลี้ยวขวากลับรถเข้ามาในช่องเดินรถของนายเอกชัย ด้วยความประมาทเลินเล่อกล่าวคือ ก่อนที่นายโอภาสจะเลี้ยวขวากลับรถเพื่อเข้าไปในช่องเดินรถมุ่งหน้ากลับไปทางสามแยกพระประแดง จะต้องใช้ความระมัดระวังดูให้ดีก่อนว่าไม่มีรถยนต์คืนอื่นแล่นสวนทางมาในช่องเดินรถทางด้านกิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จึงจะเลี้ยวขวากลับรถไป แต่นายโอภาสหาได้ปฏิบัติเช่นนั้นไม่ โดยนายโอภาสได้ขับรถเลี้ยวขวากลับรถทันทีเข้าสู่ช่องเดินรถที่มุ่งหน้ามาจากกิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ โดยมิได้หยุดรอให้รถที่นายเอกชัยขับอยู่นั้นผ่านไปเสียก่อน จึงเป็นเหตุให้รถยนต์คันหมายเลข 70-0803 กรุงเทพมหานครชนกับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1จ-7211 กรุงเทพมหานครซึ่งนายเอกชัยขับอย่างรุนแรง ทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน1จ-7211 กรุงเทพมหานคร เสียหายคือกันชนหน้ายุบฝากระโปรง*หน้ายุบ ไฟหน้าด้านซ้ายและขวาแตกประตูหน้าด้านขวายุบ แชสซีหน้าคดงอ หน้ากระจังแตกเสากระจกบังลมหน้าด้านซ้ายและขวาคองอ ระบบช่วงล่างได้รับความเสียหายและเสียหายอื่น ๆ อีกหลายประการโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ดำเนินการซ่อมแซมเสียค่าใช้จ่ายไปเป็นเงินทั้งสิ้น 244,703 บาท โจทก์จึงรับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งจะต้องรับผิดตามกฎหมายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ จำเลยเพิกเฉยจึงฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า นายเอกชัยกับนายโอภาสได้ตกลงระงับข้อพิพาทแล้ว เหตุละเมิดเกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้กระทำผิด และผู้ซึ่งต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย คดีโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายเอาจากผู้กระทำละเมิด ซึ่งเป็นผลให้คดีของโจทก์ในส่วนที่อาจเรียกร้องเอาจากจำเลยขาดอายุความไปด้วย โดยไม่อาจนำเอาอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882มาใช้อนุโลมได้ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวอยู่ในหมวดที่ 2ส่วนที่ 1 ของเรื่องการรับประกันวินาศภัย ซึ่งใช้ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยเท่านั้น จะนำไปใช้ในเรื่องประกันภัยค้ำจุน ซึ่งเป็นเรื่องบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายไม่ได้นายมงคลไม่มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน1จ-7211 กรุงเทพมหานคร โจทก์ยังมิได้ชดใช้ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนใด ๆ จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิได้ โจทก์ไม่เคยทวงถาม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายฟ้องมาให้ชัดแจ้งว่า จำเลยรับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน70-0803 กรุงเทพมหานคร จากใคร ค่าเสียหายไม่มีรายละเอียดแจ้งชัดพอที่จำเลยจะให้การต่อสู้คดีได้ว่าแต่ละส่วนมีสาเหตุมาจากอะไรและเหตุใดต้องเสียค่าซ่อมไปถึง244,703 บาท แต่อย่างไรก็ดีตามสัญญาประกันภัยของจำเลยมีกำหนดคุ้มครองบุคคลภายนอกครั้งละไม่เกิน 100,000 บาทเท่านั้นค่าเสียหายของโจทก์หากมีไม่เกิน 10,000 บาทเหตุละเมิดเกิดจากการกระทำของนายโอภาส
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 107,812.50 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 28 สิงหาคม 2533)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไว้มีเพียงข้อเดียวว่า คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 ได้บัญญัติวางหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับความรับผิดของผู้รับประกันภัยค้ำจุนไว้ว่าผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ต่อเมื่อเป็นความวินาศภัยซึ่งผู้เอาประกันจะต้องรับผิดชอบเมื่อโจทก์กล่าวบรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 70-0803 กรุงเทพมหานครคันที่นายโอภาส จันทวิช ขับประมาทชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยรับประกันภัยไว้คือใคร และนายโอภาสขับรถยนต์คันนั้นในฐานะอะไรหรือมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัย อันจะเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการทำละเมิดของนายโอภาส จำเลยผู้รับประกันภัยค้ำจุนย่อมไม่มีโอกาสทราบได้เลยว่าผู้เอาประกันภัยต้องร่วมรับผิดกับนายโอภาสด้วยข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างไรและย่อมไม่อาจให้การต่อสู้คดีของโจทก์ได้คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share