แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การบังคับชำระหนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่เจ้าหนี้บุกรุกเข้าไปเอาทรัพย์สินของลูกหนี้ไปโดยพลการ การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้เลื่อยตัดกุญแจแล้วเปิดประตูเข้าไปเอาเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานที่เก็บอยู่ภายในบ้านซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่บ้านพักของ ป. ลูกหนี้และไม่รู้ด้วยว่าเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานใช่ของ ป. หรือไม่ไปเพื่อตีชำระหนี้ จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 เวลากลางวัน จำเลยใช้เลื่อยตัดกุญแจคล้องประตูบ้านพัก อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายเหม ผู้เสียหาย จนหลุดออก อันเป็นการทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลและทรัพย์ แล้วเข้าไปในบ้านพักผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและลักเครื่องบดแป้งไฟฟ้า 1 เครื่อง ราคา 7,000 บาท กับรถจักรยาน 1 คัน ราคา 1,500 บาท รวมราคาทรัพย์ 8,500 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ในเคหสถานดังกล่าวไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (3) (8) วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 9,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี (ที่ถูกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้เป็นยุติว่า นายเหม ผู้เสียหาย พักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 290/1 หมู่ที่5 ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา นางประภาพร เป็นบุตรสาวของผู้เสียหาย ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง ขณะผู้เสียหายออกจากบ้านไปที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยปิดประตูหน้าบ้านใส่กุญแจไว้ จำเลยใช้เลื่อยตัดกุญแจบ้านของผู้เสียหาย แล้วเข้าไปเอาเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานของผู้เสียหายซึ่งเก็บไว้ในบ้านไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยนำสืบทำนองว่าจำเลยไม่มีเจตนาลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยเบิกความว่า นางประภาพรกู้เงินจำเลยไป 30,000 บาท และติดค้างค่าแชร์จำเลยอีก 104,000 บาท วันเกิดเหตุนางประภาพรนัดจำเลยให้ไปตกลงเรื่องหนี้สินที่บ้านเกิดเหตุ แต่เมื่อจำเลยไปถึงพบบ้านปิดใส่กุญแจ ไม่พบนางประภาพรจำเลยเหลือบไปเห็นเลื่อยที่หน้าบ้าน จึงใช้เลื่อยดังกล่าวตัดกุญแจแล้วเปิดประตูเข้าไปเอาเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานซึ่งอยู่ภายในบ้าน นำไปยึดหน่วงไว้เพื่อให้นางประภาพรไปตกลงเรื่องหนี้สินที่ติดค้างกันอยู่ ซึ่งหากเป็นความจริงจำเลยก็น่าจะให้การทำนองเดียวกันนี้ต่อพนักงานสอบสวน แต่จากคำให้การของจำเลยตามบันทึกคำให้การของผู้ต้อหาเอกสารหมาย จ.7 จำเลยกลับให้การต่อพนักงานสอบสวนแตกต่างไปว่า จำเลยติดตามทวงถามให้นางประภาพรชำระหนี้ตลอดมา ภายหลังทราบว่านางประภาพรซึ่งพักอยู่ติดกับบ้านเกิดเหตุได้หนีออกจากบ้านไป โดยนางประภาพรนำทรัพย์สินบางส่วนไปเก็บไว้ที่บ้านเกิดเหตุ จำเลยจึงตามไปที่บ้านเกิดเหตุ แต่พบว่าประตูหน้าบ้านถูกปิดใส่กุญแจ จำเลยจึงใช้เลื่อยตัดกุญแจที่คล้องประตูออกแล้วเข้าไปเอาเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานจากภายในบ้านนำไปเก็บไว้ที่บ้านของจำเลยเพื่อหักหนี้ที่นางประภาพรเป็นหนี้อยู่ไปตีชำระหนี้ซึ่งแม้นางประภาพรจะเป็นลูกหนี้จำเลยอยู่จริงตามที่จำเลยเบิกความจำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะกระทำการดังกล่าวได้ เพราะการบังคับชำระหนี้ต้องดำเนินการตามกฎหมาย มิใช่บุกรุกเข้าไปเอาทรัพย์สินของลูกนี้ไปโดยพลการ การที่จำเลยใช้เลื่อยตัดกุญแจ แล้วเปิดประตูเข้าไปเอาเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานที่เก็บอยู่ภายในบ้านเกิดเหตุซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่บ้านพักของนางประภาพร และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเครื่องบดแป้งไฟฟ้าและรถจักรยานดังกล่าวใช่ของนางประภาพรหรือไม่ไปเพื่อตำชำระหนี้ จึงเป็นการเอาทรัพย์ดังกล่าวไปโดยทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานโดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น