แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงกันที่ว่าการอำเภอท่าเรือว่า ให้รังวัดแบ่งที่ดินออกเป็น 5 ส่วน โดยยึดการถือครองตามเดิมเป็นหลัก ทางเดินให้ใช้ทางหลังอาคารพาณิชย์กว้าง 1.2 เมตร ออกสู่ถนนทางด้านข้างอาคารพาณิชย์ถึงถนนสาธารณะโดยให้ใช้ได้ตลอดไป ส่วนท่อระบายน้ำให้ขุดลอกหน้าท่อระบายน้ำให้มีระดับต่ำกว่าปากท่อ หากมีการซื้อขายส่วนเกินให้คิดราคา 1,800 บาท ต่อตารางวา และภายหลังจัดทำแผนที่โจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ บันทึกและแผนที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งที่ดินกันอีกตามรูปแผนที่ ซึ่งทั้งโจทก์ และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองไว้ จึงมีผลผูกพันคู่ความ แม้โจทก์จะมิได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงด้วยตนเอง แต่พฤติการณ์โจทก์ถือได้ว่าเชิด ส. เป็นผู้ลงลายมือชื่อกระทำการแทน มีผลเช่นดียวกับที่โจทก์ลงลายมือชื่อเอง และถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้น ซึ่งรูปแผนที่ตรงกับแผนที่วิวาทจึงต้องแบ่งแยกกรรมสิทธิที่ดินไปตามแผนที่วิวาท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินส่วนของโจทก์เนื้อที่จำนวน 180 ตารางวา ส่วนของจำเลยทั้งสองเนื้อที่คนละ 60 ตารางวา โจกท์และจำเลยทั้งสองตกลงกันแบ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินและตกลงให้เจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดตามส่วนที่มีกรรมสิทธิและตามที่ครอบครอง แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ดินทำการรังวัดตามขอ จำเลยทั้งสองกลับไม่ยินยอมตามที่ตกลงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4286 ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ 180 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านพักอาศัยและแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดเกินกว่า 20 ปีแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งที่ดินตามส่วนสัด แต่หากรังวัดแบ่งแยกแล้วส่วนที่แต่ละฝ่ายครอบครองเกินส่วนของตนให้ชำระราคาที่ดินส่วนที่เกินเป็นเงินตารางวาละ 1,800 บาท และโจทก์ตกลงกันที่ดินเป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะและทำทางระบายน้ำให้แก่จำเลยทั้งสองแต่เจ้าหน้าที่ที่ดินงดการรังวัดแบ่งแยกเพราะโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4286 ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้แก่โจทก์เนื้อที่ดินจำนวน 3 ส่วน ใน 5 ส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 4286 ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามส่วนที่โจทก์ครอบครองทางด้านทิศตะวันตกตามแผนที่เอกสารหมาย จ.3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 4286 ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื้อที่ประมาณ 3 งาน ส่วนของโจทก์ 3 ส่วนใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ 180 ตารางวา ส่วนของจำเลยทั้งสองคนละ 1 ใน 5 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่คนละ 60 ตารางวา โดยโจทก์ได้กรรมสิทธิ์เนื้อที่ 120 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 80 จากนางสาวชูศรี และต่อมาซื้อที่ดินส่วนของนางวรรณา เพิ่มอีก 60 ตารางวา ที่ดินทั้งสองส่วนอยู่ติดกัน โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วน โดยโจทก์ครอบครองทางด้านทิศตะวันตก จำเลยทั้งสองครองครองที่ดินทางด้านทิศตะวันออก โดยจำเลยที่ 1 ครอบครองทางด้านทิศใต้ ส่วนจำเลยที่ 2 ครอบครองทางด้านทิศเหนือ โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องการแบ่งแยกที่ดิน แต่ตกลงกันไม่ได้จึงให้เจ้าหน้าที่อำเภอท่าเรือไกล่เกลี่ย โดยโจทก์ตกลงเปิดทางเดินทางด้านทิศเหนือกว้าง 1.20 เมตร และให้วางท่อระบายน้ำในที่ดินด้านทิศใต้ จากนั้นโจทก์และจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อเจ้าหน้าที่ที่ดินรังวัดที่ดินแล้วไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าหน้าที่ที่ดินจึงยกเลิกการรังวัด ในการทำแผนที่วิวาทตามคำสั่งศาล โจทก์และจำเลยทั้งสองนำชี้ที่ดินส่วนที่แต่ละฝ่ายครอบครอง โดยโจทก์นำชี้เนื้อที่ติดกันจะล้ำเข้าไปในส่วนที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างบ้าน และห้องน้ำล้ำเข้ามาในที่ดินส่วนที่เป็นของโจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งสองนำชี้เป็นเหตุให้ที่ดินโจทก์ถูกแบ่งออกเป็น 2 แปลง แปลงเล็กเนื้อที่ 22 ตารางวา โดยมีที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คั่นอยู่
มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ควรแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ตามแผนที่วิวาทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงกันที่ว่าการอำเภอท่าเรือ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2543 ว่า ให้รังวัดแบ่งที่ดินออกเป็น 5 ส่วน โดยยึดการถือครองตามเดิมเป็นหลักทางเดินให้ใช้ทางหลังอาคารพาณิชย์กว้าง 1.2 เมตร ออกสู่ถนนทางด้านข้างอาคารพาณิชย์ถึงถนนสาธารณะโดยให้ใช้ได้ตลอดไป ส่วนท่อระบายน้ำให้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยขุดลอกหน้าท่อระบายน้ำให้มีระดับต่ำกว่าปากท่อ สามารถให้น้ำไหลออกสู่ร่องของเทศบาล หากมีการซื้อขายส่วนเกินให้คิดราคา 1,800 บาทต่อตารางวา และภายหลังจัดทำแผนที่เอกสารหมาย จ.3 โจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อไว้ เห็นว่า บันทึกและแผนที่ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งนายสละ สามีโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้ การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งที่ดินกันอีกตามรูปแผนที่เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งท้งโจทก์และจำเลยทั้งสองลงลายมือชื่อรับรองไว้ จึงมีผลผูกพันคู่ความ แม้โจทก์จะมิได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงด้วยตนเอง แต่พฤติการณ์โจทก์ถือได้ว่าเชิดนายสละเป็นผู้ลงลายมือชื่อกระทำการแทน มีผลเช่นเดียวกับที่โจทก์ลงลายมือชื่อเอง และแผนที่ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้น ซึ่งรูปแผนที่ตรงกับแผนที่วิวาทจึงต้องแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ที่ดินไปตามแผนที่วิวาท”
พิพากษาแห้เป็นว่า ให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินไปตามแผนที่วิวาทโดยให้จำเลยที่ 1 ได้รับที่ดินในส่วนที่นำชี้และในส่วนที่ระบุว่าเป็นส่วนของโจทก์ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันออกอีก 22 ตารางวา โดยให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ตารางวาละ 1,800 บาทเป็นการตอบแทน ค่าใช้จ่ายในการโอนรวมทั้งภาษีเงินได้ให้ออกคนละครึ่ง และให้โจทก์และจำเลยทั้งสองออกค่าใช้จ่ายในการรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ตามส่วนของตน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ