แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยและเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่เริ่มบริษัทจำนวน 16,000 หุ้น เป็นอันดับสามจากผู้ถือหุ้น 8 คน แต่ในปี 2544 ถือหุ้นจำนวน 40,000 หุ้น เป็นอันดับหนึ่ง และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันเริ่มตั้งบริษัทจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2546 โจทก์ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่ ป. และ ก. โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงเดือนมกราคม 2546 การบริหารงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะมาทำงานในเวลาใดก็ได้ไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน โจทก์จึงมิใช่พนักงานที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยจึงมิใช่ได้รับในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ส่วนการที่โจทก์บริหารงานภายใต้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นเพียงวิธีการครอบงำบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1144 เท่านั้น หาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงิน 3,497,611 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,662,500 บาท กับอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,350,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีรายชื่อและรหัสพนักงานอยู่ในบัญชีเงินเดือนพนักงานจำเลย มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย หักเงินประกันสังคมและจ่ายเงินเดือนเดือนละ 2 ครั้ง เข้าบัญชีธนาคารเช่นเดียวกับพนักงานอื่น โจทก์ตกลงทำงานเพื่อรับค่าจ้างจากจำเลยเป็นผลตอบแทนการทำงาน โจทก์ต้องบริหารงานตามข้อบังคับของบริษัทและอยู่ในความครอบงำของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ การที่โจทก์ไม่ถือปฏิบัติเคร่งครัดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานก็เป็นไปตามปกตินิยมของบริษัททั่วไปนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ยุติในการพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่า โจทก์เป็นหนึ่งในผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทจำเลยตามเอกสารหมาย ล.9 และเป็นผู้ถือหุ้นมาตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทโดยถือหุ้นจำนวน 16,000 หุ้น เป็นอันดับสามจากผู้ถือหุ้น 8 คน ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย จ.2 แต่ในปี 2544 ถือหุ้นจำนวน 40,000 หุ้น เป็นอันดับหนึ่งตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเอกสารหมาย ล.12 โจทก์เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2536 ซึ่งเป็นวันเริ่มตั้งบริษัทจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2546 ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.3 ต่อมาวันที่ 16 มกราคม 2546 โจทก์ได้โอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นายประวิตร นายอธิวัฒน์และนายกำพลตามใบโอนหุ้นเอกสารหมาย ล.13 โจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทจนถึงเดือนมกราคม 2546 การบริหารงานของโจทก์ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับเกี่ยวกับการทำงาน จะมาทำงานเวลาใดก็ได้ไม่ต้องบันทึกเวลาทำงาน ดังนี้โจทก์จึงมิใช่พนักงานที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่เป็นผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้ทำการแทนบริษัท ซึ่งเป็นความหมายของคำว่าบริษัทตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจำเลยข้อ 5 ดังกล่าว การที่โจทก์ได้รับเงินเดือนจากจำเลยจึงมิใช่ได้รับในฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลย ส่วนการที่โจทก์บริหารงานภายใต้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นนั้นก็เป็นเพียงวิธีการครอบงำบริษัทจำกัดดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1144 เท่านั้น หาได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยอันเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างของจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น…”
อนึ่ง จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาปรากฏว่าโจทก์ได้รับเงินจากจำเลยเป็นรายเดือน หากจำเลยค้างจ่ายเงินรายเดือนโจทก์จริงตามฟ้อง จำเลยก็ต้องชำระแก่โจทก์ จึงเห็นสมควรไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนเงินรายเดือนมาฟ้องใหม่ต่อศาลที่คดีอยู่ในเขตอำนาจ”
พิพากษายืน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องในส่วนเงินรายเดือนมาฟ้องใหม่ต่อศาลที่คดีอยู่ในเขตอำนาจและภายในกำหนดอายุความ