คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8432/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” หมายถึง การกำหนดโทษที่จะลงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโทษสองในสามส่วนของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 คือโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี 8 เดือน ถึง 13 ปี 4 เดือน หรือจำคุก 33 ปี 4 เดือน ที่ศาลกำหนดโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น จึงเป็นการกำหนดโทษจำคุกในระหว่างโทษขั้นต่ำและขั้นสูงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดแล้ว มิใช่กำหนดโทษความผิดสำเร็จ ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษที่จะลงไว้ก่อนแล้วจึงคำนวณโทษสองในสามส่วนจากโทษที่ได้กำหนดไว้นั้นดังเช่นบัญญัติไว้ตาม ป.อ. มาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงจากโทษที่ได้กำหนดไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 279, 283 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่หลังจากสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80, 279 วรรคสอง, 283 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยไม่ได้ลงโทษสองในสามส่วนของความผิดสำเร็จ แต่ได้กำหนดโทษความผิดสำเร็จจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” หมายถึง การกำหนดโทษที่จะลงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งโทษสองในสามส่วนของความผิดตามประมวลกฎหมยอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 คือโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี 8 เดือน ถึง 13 ปี 4 เดือน และปรับตั้งแต่ 9,333.34 บาท ถึง 26,666.67 บาท หรือจำคุก 33 ปี 4 เดือน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี ก่อนลดโทษให้นั้นจึงเป็นการกำหนดโทษจำคุกในระหว่างโทษขั้นต่ำและขั้นสูงโดยคำนวนณโทษจากสองในสามของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดแล้วมิใช่กำหนดโทษความผิดสำเร็จดังที่จำเลยฎีกา ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษที่จะลงไว้ก่อนแล้วจึงคำนวณโทษสองในสามส่วนจากโทษที่ได้กำหนดไว้นั้นดังเช่นบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงจากโทษที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า สมควรลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 กำหนดโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น ยังไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี สมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เบาลงดังที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า จำเลยล่วงละเมิดทางเพศแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุเพียง 5 ปีเศษ โดยอาศัยความอ่อนเยาว์ของผู้เสียหาย นับว่าเป็นภัยต่อสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจนฝ่ายผู้เสียหายพอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย และจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน กับมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัว ก็ไม่มีเหตุที่จะให้ความปรานีโดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share