คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษต่อเป็นเรื่องทุจริตเงินบำนาญพิเศษจากส่วนราชการเดียวกันเพียงแต่อ้างชื่อผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญพิเศษต่างรายกันหน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็รายเดียวกัน โจทก์อาจฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำความผิดในคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษต่อเป็นคดีเดียวกันได้เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกัน และพยานหลักฐานน่าจะเป็นชุดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลจะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เมื่อโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีที่ขอให้นับโทษต่อโดยศาลมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันแล้วศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 ทั้งสองสำนวนแล้ว ศาลก็นับโทษจำเลยต่อกันไม่ได้เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับราชการเป็นทหารกองประจำการสังกัดจังหวัดทหารบกเพชรบุรี เป็นเสมียนฝ่ายการเงิน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ ถึงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ จำเลยร่วมกับพวกที่เป็นพลเรือนปลอมลายมือชื่อนางสมปอง เทภาลิต ลงในสมุดรับเงินบำนาญพิเศษทุกเดือน ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิและเป็นเอกสารราชการ เพื่อแสดงว่านางสมปองได้รับเงินบำนาญพิเศษแทนนายบุญ บุญญฤทธิ์ เจ้าหน้าที่การเงินหลงเชื่อจึงจ่ายเงินให้จำเลยกับพวกไปทุกเดือน การกระทำของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายแก่จังหวัดทหารบกเพชรบุรี นางสมปองและประชาชนการกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยโอกาสที่เป็นเจ้าพนักงาน เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๔๖๖/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๑๕๗, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ และให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๔๖๖/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ และแถลงยอมรับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๔๖๖/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑, ๒๖๖ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๓ ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามมาตรา ๒๖๖ การกระทำผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกระทงรวม ๗๑ กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ ๑ ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา เป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๒๐ ปี ตามมาตรา ๙๑ (๒) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ คำขอให้นับโทษต่อไม่ปรากฏว่ามีคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้วให้ยก
โจทก์ฎีกาว่าคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๖๖/๒๕๒๖ ของศาลชั้นต้นนั้นศาลมีคำพิพากษาแล้ว ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ ๑๕๓๘/๒๕๒๙ โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยผิดตามฟ้องเรียงกระทงลงโทษความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ฉ้อโกง ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา ๒๖๖ ให้จำคุกกระทงละ ๓ ปี รวม ๑๗๐ กระทง เป็นจำคุก ๕๑๐ ปี ฐานฉ้อโกงอีก ๑ กระทง ให้จำคุก ๑ ปี คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลย ๓๔๐ ปี ๘ เดือน แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๒) บัญญัติว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน ๒๐ ปี จึงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๒๐ ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๔๐,๔๙๗ บาท ๑๒ สตางค์แก่เจ้าของ ซึ่งศาลจังหวัดเพชรบุรีได้มีคำพิพากษาคดีดังกล่าวในวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๙ ตรงกับวันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีนี้โจทก์ไม่อาจยื่นคำแถลงให้ศาลอุทธรณ์ทราบได้ ขอให้ศาลฎีกานับโทษของจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๔๖๖/๒๕๒๖ หมายเลขแดงที่ ๑๕๓๘/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้นด้วย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่า จะนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๕๓๘/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ จำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่าจำเลยถูกดำเนินคดีฐานทุจริตเงินบำนาญพิเศษของผู้อื่นอีก ๒ คดี คือของนายคำ แก้วอ่อน และของนางพวก แก้วมรกต ทั้งตามฎีกาของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยถูกลงโทษในคดีที่ขอให้นับโทษต่อฐานเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ น่าเชื่อว่าในคดีที่ขอให้นับโทษต่อและคดีนี้เป็นเรื่องทุจริตเงินบำนาญพิเศษจากส่วนราชการเดียวกันเพียงแต่อ้างชื่อผู้มีสิทธิรับเงินบำนาญพิเศษต่างรายกัน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็รายเดียวกัน โจทก์อาจฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำความผิดในคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษต่อเป็นคดีเดียวกันได้เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกัน และพยานหลักฐานน่าจะเป็นชุดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไป และศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีทุกสำนวนรวมกัน ศาลก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เมื่อโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีที่ขอให้นับโทษต่อโดยศาลมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันแล้วศาลลงโทษจำเลยทุกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๑ ทั้งสองสำนวนแล้ว ศาลก็นับโทษจำเลยต่อกันไม่ได้เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ บัญญัติไว้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ มาด้วยนั้นไม่ถูกต้องเพราะพระราชบัญญัตินี้มิได้แก้ไขเพิ่มเติมบทกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลย จึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share