คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12152/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนอาวุธปืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้นส่วนอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนหรือไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่า ผู้ร้องที่ 1 ให้จำเลยยืมอาวุธปืนของกลาง ส่วนผู้ร้องที่ 2 ฝากอาวุธปืนของกลางอีกกระบอกหนึ่งใช้กับจำเลย เมื่อผู้ร้องทั้งสองทราบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนของกลาง ผู้ร้องทั้งสองย่อมนำใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของกลางให้จำเลยต่อสู้ในคดีหลักเพื่อพิสูจน์ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนหรือไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้ต่อสู้ในคดีหลัก ผู้ร้องทั้งสองจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนของกลางต่อไปอีกไม่ได้
ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของที่แท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน…” เมื่อคดีหลักของคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางตาม ป.อ. มาตรา 32 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีอำนาจยื่นคำขอให้คืนอาวุธปืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 และริบอาวุธปืนของกลาง
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้องทั้งสอง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่ผู้ร้องทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนอาวุธปืนของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนหรือไม่ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว แม้ผู้ร้องทั้งสองมิได้มีโอกาสต่อสู้หรือโต้แย้งข้อหาโจทก์ที่กล่าวหาจำเลยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยก็ตาม แต่ตามคำร้องของผู้ร้องทั้งสองปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องที่ 1 ให้จำเลยยืมอาวุธปืนของกลาง ส่วนผู้ร้องที่ 2 ฝากอาวุธปืนของกลางไว้กับจำเลย เมื่อผู้ร้องทั้งสองทราบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาวุธปืนของกลาง ผู้ร้องทั้งสองย่อมนำใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนของอาวุธปืนของกลางให้จำเลยต่อสู้ในคดีหลักเพื่อพิสูจน์ว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่มีเครื่องหมายทะเบียนหรือไม่ได้ เมื่อจำเลยไม่ได้ต่อสู้ในคดีหลัก ผู้ร้องทั้งสองจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนอาวุธปืนของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน…” เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1414/2556 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีหลักของคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้คืนอาวุธปืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีก
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง

Share