คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6382/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินวิธีการบังคับตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนดสิบปี คือ ต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีก่อน ขั้นต่อไปต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วจากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใด บทบัญญัตินี้ไม่ได้หมายความว่าโจทก์เพียงแต่ขอหมายบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วโจทก์จะดำเนินวิธีการบังคับคดีอย่างไรต่อไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีไปแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นผลให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกบังคับคดีโดยไม่มีกำหนดเวลา เมื่อโจทก์ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาดังกล่าวและนำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยมิได้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เป็นครั้งแรกเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2514 คดีถึงที่สุดแล้วต่อมาจำเลยผิดนัดศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีตามคำขอของโจทก์เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2523 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 เมื่อ วันที่ 14 มกราคม 2529
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีเพราะพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการบังคับคดีไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2514 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมและคดีเป็นที่สุดแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2523 โจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสอง และศาลชั้นต้นได้ออกหมายบังคับคดีในวันดังกล่าวตามที่โจทก์ขอ ครั้นวันที่ 22ตุลาคม 2523 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 1โจทก์ไม่เคยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2529 โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 2 เป็นครั้งแรก แต่มิได้ยึดทรัพย์จำเลยที่ 2เพราะจำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 10,000 บาท แก่ผู้แทนโจทก์ปรากฏตามภาพถ่ายคำขอยึดทรัพย์เอกสารหมาย ล.1 และ ล.4 ภาพถ่ายรายงานเจ้าหน้าที่เอกสารหมาย ล.2 และ ล.5 ภาพถ่ายคำแถลงเอกสารหมาย ล.3 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์มีอำนาจบังคับคดีจำเลยที่ 2 หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) ไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินวิธีการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนดสิบปี กล่าวคือ ประการแรกเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงหรือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้วประการที่สาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าเจ้าหนี้มีความประสงค์ขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาถ้ามีลูกหนี้หลายคนให้ระบุว่าต้องการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้คนใดเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนครบถ้วนภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ถือว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271แล้ว ซึ่งศาลฎีกาได้พิพากษาไว้เป็นแบบอย่างตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 4816/2528 ระหว่าง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด โจทก์บริษัทประธานพัฒนโลหะ จำกัด กับพวก จำเลยและ คำพิพากษาฎีกาที่ 3607/2529 ระหว่าง บริษัทบางกอกอินเวสท์เมนท์ จำกัด โจทก์ธนาคารมหานคร จำกัด ผู้ร้อง นางสาววาณี แสงแก้วกิจ กับพวกจำเลยบทบัญญัตินี้ไม่ได้หมายความว่าโจทก์เพียงแต่ขอหมายบังคับคดีภายในสิบปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว โจทก์จะดำเนินวิธีการบังคับคดีอย่างไรต่อไปเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีไปแล้วก็ได้ ซึ่งเป็นผลให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาถูกบังคับคดีโดยไม่มีกำหนดเวลา ดังนั้นเมื่อโจทก์ร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดดังกล่าว และนำยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 โดยมิได้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 เลย ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2529 โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 เป็นครั้งแรกจึงพ้นกำหนดเวลาสิบปี นับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2514 ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอม โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับคดีกับจำเลยที่ 2ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับว่า โจทก์หมดสิทธิที่จะบังคับคดีกับจำเลยที่ 2

Share