แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๙/๒๕๕๑
วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องกรณีเขตอำนาจศาลขัดแย้งกันระหว่างศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลปกครองกลางให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๙ บริษัทโรงเลื่อยจักรแสงวัฒนา จำกัด โดยนางสาวศุภรำไพ หาญทวีพานิชย์ โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย เอี่ยวส่วย ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่ยอดสมบัติ ที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เท็คโทนา ที่ ๓ กรมศุลกากร ที่ ๔ นายอนุชา จิตรัศมีโรจน์ ที่ ๕ นายเอนก อรธนาลัยที่ ๖ นายพชรหรือพชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ ที่ ๗พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ ๘ นายพงษ์ศักดิ์ วินิจกิจเจริญ ที่ ๙ นายเสือ ปรุงธัญพฤกษ์ ที่๑๐ กรมป่าไม้ ที่ ๑๑ และนายวรศักดิ์ พวงเดช ที่ ๑๒ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๑๘๓/๒๕๔๙ ความว่า เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ โจทก์ตกลงซื้อขายไม้สักแปรรูปจำนวน ๑๓,๐๐๐ ลูกบาศก์ฟุต จากจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๒๐,๑๕๐,๐๐๐ บาท วางเงินมัดจำในวันทำสัญญา๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท และจะชำระค่าไม้อีก ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ภายในวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๘ และเมื่อจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ส่งไม้สักที่ตกลงซื้อขายลงเรือที่ท่าเรือกวางเล่ยหรือสิบสองปันนาพร้อมที่จะขนส่งมายังท่าเรือเชียงแสน โจทก์จะโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ ๑ หรือที่ ๒บางส่วนจำนวน ๒๐๓,๖๐๔ ดอลลาร์สหรัฐ โดยจำเลยที่ ๑ หรือที่ ๒ ต้องส่งไม้แปรรูปที่ตกลงซื้อในนามโจทก์ ส่วนค่าไม้ที่เหลือ โจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตระหว่างกัน เมื่อไม้สักดังกล่าวถูกส่งมายังท่าเรือเชียงแสน นำเข้าโกดังของโจทก์ที่เช่ามาจากจำเลยที่ ๓ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖, ๒๘ และ ๓๐ มีนาคม ๒๕๔๘ เรือที่ขนส่งไม้สักดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือเชียงแสน โจทก์จึงดำเนินการตามพิธีการศุลกากรและนำไม้ไปเก็บรักษาไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ ๓ เพื่อรอชำระอากรและขนไม้ออกจากด่านศุลกากร โดยโจทก์เป็นผู้ออกค่าเรือบรรทุกและค่าขนไม้จากเรือเข้าไปยังโกดังตามที่ตกลงกัน ต่อมาวันที่ ๙พฤษภาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีหนังสือบอกเลิกสัญญาซื้อขายไม้สักดังกล่าวมายังโจทก์อ้างว่าโจทก์ผิดนัดค้างชำระค่าไม้สักแปรรูป ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท และขอให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ภายในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โจทก์จึงมีหนังสือโต้แย้งไปยังจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายในไม้สักดังกล่าวแล้ว และมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๓ ห้ามเคลื่อนย้ายหรือยินยอมให้ผู้อื่นเคลื่อนย้ายไม้สักดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ ในนามจำเลยที่ ๒ ยื่นหนังสือต่อศุลกากรประจำด่านอำเภอเชียงแสน ขอผ่านพิธีการชำระอากรเพื่อนำไม้ดังกล่าวออกจากด่าน แต่เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเห็นว่าหลักฐานประกอบการชำระอากรยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่าไม้สักดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ นำเอกสารมามอบเพิ่มเติม แต่เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเห็นว่าเป็นเอกสารที่ทำขึ้นภายหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงไม่อนุญาตให้ชำระอากรตามพิธีการศุลกากร หลังจากนั้นเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ และที่ ๑๒ ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมาธิการการปกครอง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งมีจำเลยที่ ๘ เป็นประธาน อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของโจทก์และเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรอำเภอเชียงแสน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าคณะกรรมการด้านกฎหมายของกรมศุลกากรได้พิจารณาแล้วว่ากรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวเป็นของโจทก์ คณะกรรมาธิการฯ จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีก แต่กลับพิจารณาโดยอาศัยความเห็นของจำเลยที่ ๕ถึงที่ ๗ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรและปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านศุลกากรอำเภอเชียงแสนและสำนักงานศุลกากรภาคที่ ๓ จังหวัดเชียงใหม่ในขณะที่เกิดเหตุทั้งนี้ โดยสรุปข้อเท็จจริงโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยพิจารณาว่าจำเลยที่๑ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวตามกฎหมายและยังอยู่ในฐานะเป็นผู้นำเข้าไม้สักดังกล่าว จึงมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายศุลกากรที่จะชำระอากรเพื่อดำเนินการนำไม้ดังกล่าวออกจากด่านศุลกากรได้ จำเลยที่ ๘ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้มีหนังสือให้ด่านศุลกากรอำเภอเชียงแสนสังกัดจำเลยที่ ๔ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ชำระอากรและรับมอบไม้สักดังกล่าวออกจากโกดังของจำเลยที่ ๓ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๙ ในฐานะป่าไม้จังหวัดเชียงราย ยับยั้งไม่ให้ออกใบกำกับการเคลื่อนย้ายไม้สักดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่๒ แต่จำเลยที่ ๙ หาได้หยุดหรือทำการสอบสวนให้ได้ความจริงกลับร่วมกับจำเลยที่ ๑๐ ออกใบกำกับเคลื่อนย้ายไม้สักดังกล่าวออกจากคลังสินค้าของจำเลยที่ ๓ การกระทำของจำเลยที่ ๕ถึงที่ ๑๐ เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และการที่จำเลยที่ ๓ ยินยอมให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขนย้ายไม้สักดังกล่าวออกจากคลังสินค้าของจำเลยที่ ๓ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีหนังสือแจ้งความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์เป็นการร่วมกันกับจำเลยที่ ๑ที่ ๒และที่ ๔ ถึงที่ ๑๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถได้ประโยชน์จากการแปรรูปไม้สักเป็นผลิตภัณฑ์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๗,๙๑๔,๒๔๑.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ให้การต่อสู้คดี
ระหว่างพิจารณาศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ และจำเลยที่ ๙ ถึงที่ ๑๐ เนื่องจากมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ และจำเลยที่ ๙ ถึงที่ ๑๐
จำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เนื่องจากข้อกล่าวหาของโจทก์เป็นการกล่าวหา จำเลยที่ ๔ ถึงที่ ๗ และจำเลยที่ ๙ ถึงที่ ๑๑ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
โจทก์แถลงว่า นอกจากคดีนี้โจทก์ยังได้ฟ้องจำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๕๕/๒๕๔๙
จำเลยที่ ๑๒ ทำคำชี้แจงเรื่องเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๔ และที่๑๑ทั้งที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลปกครองกลาง โดยมูลเหตุแห่งคดีเดียวกันเสมือนเป็นการฟ้องซ้อนขอให้ทั้งสองศาลหารือกันและน่าจะให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้พิจารณาคดีนี้
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า เหตุละเมิดคดีนี้สืบเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งมีมูลเหตุมาจากเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายไม้สักแปรรูปอันเป็นข้อพิพาททางแพ่ง และมีกรณีการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๓ ที่ ๘ และที่ ๑๒ รวมอยู่ด้วยคดีในส่วนนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม แต่ตามคำฟ้องยังปรากฏอีกว่า การที่โจทก์ได้รับความเสียหายก็มีส่วนจากการกระทำของจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นกรมศุลกากรและจำเลยที่ ๑๑ซึ่งเป็นกรมป่าไม้อยู่ด้วย โดยการกระทำของจำเลยที่ ๔ นั้น โจทก์ได้บอกกล่าวแล้วว่าไม่ให้อนุญาตนำไม้พิพาทออกจากโกดังและในส่วนของจำเลยที่ ๑๑ ก็บอกไม่ให้ออกใบอนุญาตเคลื่อนย้ายไม้ แต่จำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ ก็ยังมีคำสั่งให้กระทำการต่อไปตามที่จำเลยที่ ๑ ขอทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีในส่วนนี้จึงเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะหรือแพ้ ศาลต้องพิจารณามูลคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นต้นเรื่องคดีนี้ให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยที่๑ และที่ ๒ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ หากรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ก็อาจมีผลทำให้จำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ รวมถึงจำเลยอื่น ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไปทำให้เห็นได้ว่าการวินิจฉัยคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมเป็นข้อวินิจฉัยหลัก ส่วนข้อวินิจฉัยในคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ และที่๑๑ ซึ่งเป็นคดีปกครองเป็นข้อวินิจฉัยรอง เพี่อให้ข้อวินิจฉัยแห่งคดีเป็นไปในแนวทางเดียวกันคดีนี้จึงสมควรอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า โจทก์อ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๕ที่ ๖ และที่ ๗ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๔ ร่วมกันพิจารณาอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ชำระอากรขาเข้าไม้สักแปรรูปเพื่อดำเนินการนำไม้สักดังกล่าวออกจากศุลกากรได้ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเชียงแสนและคณะกรรมการด้านกฎหมายของกรมศุลกากรได้พิจารณาแล้วว่ากรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวเป็นของโจทก์ และได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๙และที่ ๑๐ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑๑ ออกใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ทั้งที่โจทก์มีหนังสือขอให้ยับยั้งแล้ว การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๑๑ และที่ ๑๒ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๘ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองจำต้องพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ดำเนินการตามขั้นตอนแห่งกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ ในการอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ และที่๒ ชำระค่าอากรและตรวจปล่อยไม้ รวมทั้งนำไม้เคลื่อนที่โดยชอบหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองย่อมมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ ส่วนกรณีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ตามสัญญาซื้อขายอย่างไร โจทก์ย่อมมีสิทธิดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่างหากได้อยู่แล้วและขอคุ้มครองชั่วคราวมิให้ยักย้ายถ่ายเทไม้สักแปรรูป แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ กลับนำเอาการกระทำของจำเลยที่ ๑และที่ ๒ ในฐานะเอกชนผู้ยื่นคำขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐขอชำระอากรขาเข้าและตรวจปล่อยสินค้าไม้สักดังกล่าว และขออนุญาตนำไม้เคลื่อนที่มาฟ้องต่อศาลแทน อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาของศาลปกครองจำต้องพิจารณาด้วยว่า ผู้ใดเป็นผู้นำเข้าที่แท้จริงตามนิยามในมาตรา ๒ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช ๒๔๖๙ ให้หมายความรวมทั้ง และใช้ตลอดถึงเจ้าของหรือบุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้ครอบครอง หรือมีส่วนได้เสียขณะหนึ่งในของใดๆ นับแต่เวลาที่นำของนั้นเข้ามาจนถึงเวลาที่ได้ส่งมอบของให้ไปโดยถูกต้องพ้นจากความรักษาของพนักงานศุลกากร ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ของรัฐได้พิจารณาเอกสารประกอบการยื่นคำขอใดบ้าง อันจะแสดงว่าผู้ใดเป็นผู้นำเข้าและมีหน้าที่ชำระค่าอากรตามพิธีการศุลกากร และผู้ใดมีสิทธิขอให้ตรวจปล่อยสินค้า ตามมาตรา ๑๐ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันจะทำให้วินิจฉัยต่อไปว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดจำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ ซึ่งพิจารณาคำขอใบเบิกทางและออกใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยอาศัยหลักฐานจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ศาลปกครองหาจำต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ก่อน เพราะโจทก์เคยโต้แย้งการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในไม้สักแปรรูปเมื่อครั้งจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ยื่นคำขออนุญาตชำระค่าอากรขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ อันถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นการพิจารณาทางปกครองก่อนมีคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ ได้อนุญาตให้จำเลยที่ ๑และที่ ๒ ชำระค่าอากรขาเข้าไม้สักดังกล่าว และตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นำไม้สักดังกล่าวออกจากด่านศุลกากรเชียงแสนแล้ว รวมทั้งโจทก์เคยมีหนังสือขอให้ยับยั้งมิให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑๑ออกใบเบิกทางให้นำไม้เคลื่อนที่ อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านพยานหลักฐานของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แสดงต่อเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ใดเป็นเจ้าของไม้สักแปรรูปที่แท้จริง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ พิจารณาก่อนมีคำสั่ง ถือได้ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสองหน่วยงานได้พิจารณาคำขอและคำคัดค้านของคู่กรณีทุกฝ่ายแล้ว การพิจารณาของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวและมีคำสั่งทางปกครองตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ หากโจทก์ไม่เห็นด้วยย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเห็นว่า การกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นประเด็นหลัก ส่วนกรณีเอกชนร่วมกันกระทำละเมิดโดยการขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งยื่นคำขออนุญาตชำระค่าอากร ขอตรวจปล่อยสินค้าขาเข้า ขอใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่ ล้วนเป็นขั้นตอนการรวบรวมหลักฐานก่อนการยื่นคำขออนุญาตหากจะต้องพิจารณาประเด็นว่าผู้ใดเป็นเจ้าของที่แท้จริง รวมทั้งจำเลยที่๑ที่ ๒ และที่ ๑๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากการรวบรวมพยานหลักฐาน และการยื่นคำขอต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจำต้องพิจารณาสิทธิในทรัพย์สินและหน้าที่ความรับผิดของบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายทั่วไป ศาลปกครองก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาได้ ดังนั้น ข้อวินิจฉัยในคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ และที่ ๑๑ ซึ่งเป็นคดีปกครองและเป็นประเด็นหลักแห่งคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองและข้อวินิจฉัยในคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๘ และที่ ๑๒ แม้เป็นประเด็นรองแต่ก็เป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องกรณียื่นคำขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอนุญาตและออกใบอนุญาต เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คดีนี้จึงสมควรอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๓ เป็นข้อพิพาทตามสัญญาเช่า ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อไม้สักแปรรูปจำนวน๑๓,๐๐๐ ลูกบาศก์ฟุต จากจำเลยที่ ๑ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ ๒ เป็นเงิน ๒๐,๑๕๐,๐๐๐ บาท ตกลงขนส่งสินค้าโดยทางเรือ เมื่อเรือที่ขนส่งไม้สักดังกล่าวเดินทางมาถึงท่าเรือเชียงแสน โจทก์ได้ดำเนินการตามพิธีการศุลกากรและนำไม้ไปเก็บรักษาไว้ที่คลังสินค้าของจำเลยที่ ๓เพื่อรอชำระอากรและขนไม้ออกจากด่านศุลกากร แต่เมื่อวันที่ ๙พฤษภาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ และที่ ๒มีหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว โดยอ้างว่าโจทก์ผิดนัดค้างชำระค่าไม้สักแปรรูป ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท และขอให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ภายในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งกลับไปว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และมีหนังสือแจ้งจำเลยที่ ๓ ห้ามเคลื่อนย้ายหรือยินยอมให้ผู้อื่นเคลื่อนย้ายไม้สักดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ในนามจำเลยที่ ๒ได้ยื่นหนังสือต่อศุลกากรประจำด่านอำเภอเชียงแสน ขอผ่านพิธีการชำระอากรเพื่อนำไม้ดังกล่าวออกจากด่านแต่เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเห็นว่า หลักฐานประกอบการชำระอากรยังไม่เพียงพอที่จะฟังได้ว่าไม้สักดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงนำเอกสารมามอบเพิ่มเติมแต่เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเห็นว่าเป็นเอกสารที่ทำขึ้นภายหลังจากมีการทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงไม่อนุญาตให้ชำระอากรตามพิธีการศุลกากร ต่อมาเมื่อวันที่ ๓สิงหาคม ๒๕๔๘ จำเลยที่ ๑ และที่ ๑๒ ทำหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังคณะกรรมาธิการการปกครอง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งมีจำเลยที่ ๘ เป็นประธาน อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการกระทำของโจทก์และเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรอำเภอเชียงแสนทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าคณะกรรมการด้านกฎหมายของกรมศุลกากรได้พิจารณาแล้วว่า กรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวเป็นของโจทก์ คณะกรรมาธิการฯ จึงไม่มีอำนาจและหน้าที่ที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีก แต่กลับพิจารณาโดยอาศัยความเห็นของจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรและปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ด่านศุลกากรอำเภอเชียงแสนและสำนักงานศุลกากรภาคที่๓ จังหวัดเชียงใหม่ในขณะที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ โดยสรุปข้อเท็จจริงโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยพิจารณาว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวตามกฎหมายและยังอยู่ในฐานะเป็นผู้นำเข้าไม้สักดังกล่าว จึงมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายศุลกากรที่จะชำระอากรเพื่อดำเนินการนำไม้ดังกล่าวออกจากด่านศุลกากรได้จำเลยที่ ๘ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้มีหนังสือให้ด่านศุลกากรอำเภอเชียงแสนสังกัดจำเลยที่ ๔ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ชำระอากรและรับมอบไม้สักดังกล่าวออกจากโกดังของจำเลยที่ ๓ โจทก์จึงมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ ๙ ในฐานะป่าไม้จังหวัดเชียงราย ยับยั้งไม่ให้ออกใบกำกับการเคลื่อนย้ายไม้สักดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ แต่จำเลยที่ ๙ หาได้หยุดหรือทำการสอบสวนให้ได้ความจริงกลับร่วมกับจำเลยที่ ๑๐ ออกใบกำกับเคลื่อนย้ายไม้สักดังกล่าวออกจากคลังสินค้าของจำเลยที่ ๓ การกระทำของจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๑๐ เป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และการที่จำเลยที่ ๓ ยินยอมให้จำเลยที่๑ และที่ ๒ ขนย้ายไม้สักดังกล่าวออกจากคลังสินค้าของจำเลยที่ ๓ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าโจทก์มีหนังสือแจ้งความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวห้ามมิให้จำเลยที่ ๓ กระทำการใดๆอันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ เป็นการร่วมกันกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ถึงที่ ๑๒ กระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถได้ประโยชน์จากการแปรรูปไม้สักเป็นผลิตภัณฑ์และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน ๑๗,๙๑๔,๒๔๑.๘๒ บาท พร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า แม้โจทก์จะมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ตามสัญญาซื้อขายไม้สักอันเป็นสัญญาทางแพ่งก็ตาม แต่โจทก์ก็มิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพราะเหตุที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กระทำผิดสัญญา โจทก์ฟ้องคดีนี้เนื่องจากเห็นว่าถูกกระทำละเมิดโดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๑๒ ร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการการปกครอง สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และจำเลยที่ ๘ พิจารณาโดยอาศัยความเห็นของจำเลยที่ ๕ ถึงที่ ๗ ซึ่งสรุปข้อเท็จจริงโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีหนังสือให้ด่านศุลกากรอำเภอเชียงแสนสังกัดจำเลยที่ ๔ อนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ชำระอากรขาเข้าไม้สักแปรรูปเพื่อดำเนินการนำไม้สักดังกล่าวออกจากศุลกากรได้ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรเชียงแสน และคณะกรรมการด้านกฎหมายของกรมศุลกากรได้พิจารณาแล้วว่ากรรมสิทธิ์ในไม้สักดังกล่าวเป็นของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และโจทก์ยังกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๙ และที่ ๑๐ เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๑๑ ออกใบเบิกทางนำไม้เคลื่อนที่แก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ทั้งที่โจทก์มีหนังสือขอให้ยับยั้งแล้ว อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เช่นกัน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทโรงเลื่อยจักรแสงวัฒนา จำกัด โดยนางสาวศุภรำไพ หาญทวีพานิชย์ โจทก์ นายสมชาย เอี่ยวส่วย ที่ ๑ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเชียงใหม่ยอดสมบัติ ที่ ๒ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เท็คโทนา ที่ ๓ กรมศุลกากร ที่ ๔ นายอนุชา จิตรัศมีโรจน์ ที่ ๕ นายเอนก อรธนาลัย ที่ ๖ นายพชรหรือพชรดิษฐ์ สินสวัสดิ์ ที่ ๗ พลตรี อินทรัตน์ ยอดบางเตย ที่ ๘ นายพงษ์ศักดิ์ วินิจกิจเจริญ ที่ ๙ นายเสือ ปรุงธัญพฤกษ์ ที่ ๑๐กรมป่าไม้ ที่ ๑๑ และนายวรศักดิ์ พวงเดช ที่ ๑๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
๘