แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อโดยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเข้าครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อ ริบเงินค่าเช่าซื้อที่ส่งแล้ว และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ของผู้เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้มีการเลิกสัญญา อันได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์อยู่ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรคสาม และถ้าทรัพย์สินที่คืนมาเสียหาย ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดนอกเหนือไปจากความเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบ.(ที่มา-ส่งเสริม)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชดใช้เงินค่าขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อ เพราะจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ จำนวนเดือนละ 6,000 บาท รวม 5 เดือน เป็นเงิน 30,000 บาทค่าโจทก์นำรถออกขายได้เงินไม่ครบถ้วนตามสัญญาเช่าซื้อเป็นเงิน 151,449บาท และค่าใช้จ่ายในการติดตามเอารถคืนเป็นเงิน 1,100 บาทรวมทั้งสิ้น 152,549 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินความจริง โจทก์เสียหายเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้าง 4 งวดจำนวน 27,868 บาทเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 181,449บาทแก่โจทก์คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 152,549 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่คู่ความนำสืบรับกันและตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้เถียงว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8ข-3836 กรุงเทพมหานครไปจากโจทก์ ค่าเช่าซื้อเป็นเงิน334,416 บาท โดยผ่อนชำระค่าเช่าซื้อ 48 งวด งวดละ 6,967 บาททุกวันที่ 3 ของเดือน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ชำระเงินงวดแรกจำนวน6,967 บาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2526 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดวันที่ 3 เมษายน 2526 สัญญาเช่าซื้อจึงเลิกกันโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2526รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 เดือน ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2527 โจทก์ขายรถยนต์คันดังกล่าวในสภาพที่ได้คืนมาให้แก่นายสมชัย เป็นเงิน 176,000บาท มีปัญหาพิจารณาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อโดยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อนี้ โจทก์ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิเพียงเข้าครอบครองรถยนต์คันที่เช่าซื้อและริบเงินค่าเช่าซื้อที่ส่งแล้วเท่านั้น และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเพราะการไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ จนเป็นเหตุให้มีการเลิกสัญญา อันได้แก่ค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ผู้เช่าซื้อครอบครองทรัพย์อยู่ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391วรรคสาม เท่านั้น และถ้าทรัพย์สินที่คืนมาเสียหาย จำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดนอกเหนือไปจากความเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์โดยชอบอีกด้วย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่1195/2511 ระหว่าง บริษัท ร.ส.พ.ยานยนต์ จำกัด กับพวก โจทก์ นายสุผลิต อ่ำพันธุ์ กับพวก จำเลย ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อของโจทก์ไว้เป็นเวลา 5 เดือน และรถยนต์ดังกล่าวอาจให้เช่าได้เดือนละ 6,000 บาทดังนั้น ค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์จึงเป็นเงิน 30,000 บาท และรถยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหายตามใบรับมอบสินค้าและแจ้งสภาพสินค้า ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2526เอกสารหมาย จ.3 คือไฟเลี้ยวซ้ายข้างหลังแตก กันชนหน้าข้างขวาชำรุด มีรอยขูดขีดเล็กน้อยรอบๆ คันรถ บังโคลนหลังมีรอยถูกชนบุบ บังโคลนหน้าขวาและฝากระโปรงหลังมีรอยบุบ แต่ความเสียหายดังกล่าวโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่า หากต้องซ่อมแล้วจะใช้เงินมากน้อยเพียงใด สมควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้รวมกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะโจทก์ขายรถยนต์ได้เงินไม่ครบตามราคาที่เช่าซื้อ รวมเป็นจำนวน 10,000 บาทส่วนค่าใช้จ่ายในการติดตามเอาคืนรถยนต์ดังกล่าวเป็นเงิน 1,100บาท นั้น จำเลยที่ 1 มิได้ให้การปฏิเสธในสัญญาเช่าซื้อก็ระบุให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดอยู่ด้วยจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ รวมเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์จำนวน 41,100 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีและโดยที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาขึ้นมาก็ย่อมได้รับผลในคดีด้วย’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินจำนวน 41,100บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์.