คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14767/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อให้ตรวจสอบกรณีท้ายอุทธรณ์ของจำเลยผู้พิมพ์หรือผู้เขียนไม่ได้ลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานศาลต้องรายงานต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อตรวจสอบและมีคำสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง และมาตรา 158 (7) ต่อไป แต่เจ้าพนักงานศาลกลับจัดทำหมายแจ้งถึง ช. ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนมาเพื่อให้ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหมายนี้ เสนอผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว กรณีเช่นนี้จะถือว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการแก้ไข ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เช่นนี้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) จำคุก 3 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนมีกำหนด 1 เดือน 15 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 จำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยไม่ปรากฏชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ในท้ายอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นส่งถ้อยคำสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อให้ตรวจสอบกรณีท้ายอุทธรณ์ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนไม่ได้ลงลายมือชื่อ ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งานอุทธรณ์ฎีกา ตรวจสอบและส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต่อไป ต่อมาศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งถึงนายไชยณรงค์ ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนมาเพื่อให้ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหมายนี้ นายไชยณรงค์ได้รับหมายแจ้งดังกล่าวแล้วทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน และมาตรา 158 (7) บัญญัติว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมีลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง เมื่อปรากฏว่าผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อให้ตรวจสอบกรณีท้ายอุทธรณ์ของจำเลยผู้พิมพ์หรือผู้เขียนไม่ได้ลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานศาลต้องรายงานต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อตรวจสอบและมีคำสั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นต่อไป แต่เจ้าพนักงานศาลกลับจัดทำหมายแจ้งถึงนายไชยณรงค์ ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนมาเพื่อให้ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหมายนี้ เสนอผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว เมื่อเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องตรวจอุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าว กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา จะถือว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161 แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการแก้ไข ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ได้ เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนคืนมายังศาลอุทธรณ์ภาค 4 แล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะต้องสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ดำเนินการดังกล่าว แต่พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เช่นนี้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติแต่อย่างใด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยไม่ได้ฎีกาในข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีก
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและดำเนินการให้ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share