คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2905/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระเงิน 5,000 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2541 ส่วนที่เหลือชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท จนกว่าจะครบภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน 50,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีการลดค่าเสียหายจาก 90,543 บาท เหลือเพียง 50,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระกับระยะเวลาชำระเสร็จขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิมซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ากรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงให้ครบ 50,000 บาท ภายใน 1 ปี ด้วย จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป และก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 27 พฤษภาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฐ – 5814 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 305,640 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้องวดละ 8,490 บาท รวม 16 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 17 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 10 ประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2540 โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2540 โดยเสียค่าใช้จ่ายในการติดตามยึดรถยนต์เป็นเงิน 2,500 บาท โจทก์นำรถยนต์ออกขายทอดตลาดได้ราคา 183,636.36 บาท ยังไม่คุ้มราคาเช่าซื้อ โจทก์บอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 90,543 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยตกลงจะชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 90,543 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2541 จะชำระเงิน 5,000 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท จนกว่าจะครบภายในกำหนด 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบ 50,000 บาท โจทก์ไม่เรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป หากจำเลยที่ 1 ผิดนัด ยินยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับคดีในจำนวนเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหาย แต่จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวเพียง 12,000 บาท และผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดวันที่ 10 ธันวาคม 2541 เป็นต้นมา
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่า บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหายเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ชำระค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นเงิน 90,543 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยจะชำระเงิน 5,000 บาท ภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2541 ส่วนที่เหลือชำระเป็นรายเดือน เดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท จนกว่าจะครบภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี หากจำเลยที่ 1 ชำระโดยไม่ผิดนัดจนครบจำนวนเงิน 50,000 บาท โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องหนี้ส่วนที่เหลืออีกต่อไป ข้อตกลงดังกล่าวมีการลดค่าเสียหายจาก 90,543 บาท เหลือเพียง 50,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระกับระยะเวลาชำระเสร็จขึ้นใหม่แตกต่างจากข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิมซึ่งโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาไปแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ากรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงให้ครบ 50,000 บาท ภายใน 1 ปี ด้วย จึงเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850 มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ และผลของสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไป และก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 สิทธิเรียกร้องของโจทก์อันเนื่องมาจากการผิดสัญญาเช่าซื้อจึงระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามมูลหนี้ในสัญญาเช่าซื้อเดิมไม่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงอันเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วย จึงไม่ต้องรับผิดตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าว และเมื่อหนี้ตามสัญญาเช่าซื้ออันเป็นหนี้ประธานระงับไปแล้วสัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงระงับไปด้วย โจทก์จะฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันหาได้ไม่ จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share