คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเรื่องจำเลยออกเช็คโดยเจตนาไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คว่า ผู้แจ้งเกรงว่าเช็คฉบับดังกล่าวจะขาดอายุความจึงมาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบเพื่อกันเช็คขาดอายุความ ผู้แจ้งยังไม่ประสงค์จะร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใดโดยผู้แจ้งจะไปติดต่อด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่งก่อน หากไม่ได้ผลจะมาร้องทุกข์อีกครั้งในภายหลัง ดังนี้ ถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 100,000 บาทให้แก่ผู้มีชื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาผู้นั้นได้นำเช็คมาขอแลกเงินสดไปจากโจทก์ โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีที่ธนาคาร ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า “บัญชีปิดแล้ว” ทั้งนี้เพราะจำเลยได้ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า การแจ้งความของโจทก์เป็นแต่เพียงแจ้ง ให้เจ้าพนักงานรับทราบเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 3 เดือน นับจากวันกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามเอกสาร จ.3 ตีความได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(7) แล้ว

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความในเอกสารที่โจทก์นำสืบหมาย จ.3ตอนที่เป็นประเด็นโต้แย้งมีดังนี้ ” ฯลฯ ธนาคารได้คืนเช็คฉบับดังกล่าวพร้อมเอกสารการคืนเช็คแจ้งปฏิเสธการจ่ายเงินโดยอ้างว่า “บัญชีปิดแล้ว”เป็นเหตุให้ผู้แจ้งได้รับความเสียหายรับเงินจากเช็คไม่ได้ ผู้แจ้งได้ติดต่อทวงถามเงินจากนายบุญอ๋อยฯ และนายประหยัดแล้วหลายครั้ง แต่ก็ได้รับการผัดผ่อนตลอดมา ผู้แจ้งเกรงว่าเช็คฉบับดังกล่าวจะขาดอายุความทางคดี จึงมาแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบ เพื่อกันเช็คขาดอายุความทั้งนี้ผู้แจ้งยังไม่ประสงค์จะร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวนแต่อย่างใดผู้แจ้งจะไปติดต่อด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่งก่อน หากไม่ได้ผลจะมาร้องทุกข์อีกครั้งในภายหลัง ฯลฯ” เห็นว่าข้อความในเอกสารดังกล่าวระบุไว้ชัดเจนว่าการที่โจทก์มาแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ก็เพียงแต่ เพื่อป้องกันคดีขาดอายุความอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากข้อความที่เน้นต่อไปว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน ต่อเมื่อโจทก์ไปติดต่อจำเลยอีกครั้งไม่ได้ผล จึงจะมาร้องทุกข์อีกครั้งในภายหลัง ซึ่งก็หมายความว่าเมื่อไม่ได้ผลในการทวงถาม โจทก์จึงจะมาร้องทุกข์นั่นเอง จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์มาแจ้งต่อพนักงานสอบสวน ในลักษณะของการกล่าวหาโดยมีเจตนาที่จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ ไม่ตรงกับคำจำกัดความของคำว่า “คำร้องทุกข์” ตามที่ได้มีอธิบายไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) ลำพังแต่การแจ้งความที่มีเจตนาเพียงเพื่อป้องกันคดีขาดอายุความเท่านั้นถือไม่ได้ว่าเป็นการร้องทุกข์ตามกฎหมาย ฎีกาที่ 186/2503, ที่ 263/2504และที่ 1361/2517 ที่โจทก์อ้างแตกต่างไม่เหมือนข้อเท็จจริงในคดีนี้ตรงที่ว่า คดีนี้โจทก์ระบุไว้ชัดว่าโจทก์ยังไม่ประสงค์ที่จะร้องทุกข์มอบคดีต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่มีทางที่จะแปลเจตนาให้ขัดต่อถ้อยคำที่ชัดเจนเช่นนี้ได้

พิพากษายืน

Share