คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2228/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการศึกษา มีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น การสอบบรรจุ แต่ง ตั้ง เลื่อนชั้นครูและนักการภารโรงของโรงเรียนในสังกัดเทศบาล มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญาดัง บัญญัติไว้ในพ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 44 เมื่อนายกเทศมนตรีแต่ง ตั้งจำเลยเป็นกรรมการและเลขานุการดำเนินการคัดเลือกนักการภารโรงเป็นการแต่ง ตั้งจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้ว ให้ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่วางไว้อีกชั้นหนึ่ง หาได้หมายความว่าก่อนหน้านั้นจำเลยไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานไม่ เมื่อจำเลยเรียกเงินจากผู้เสียหายเพื่อจะได้ใช้อำนาจหน้าที่ช่วย ให้ผู้เสียหายได้รับบรรจุเข้าทำงานตำแหน่งนักการภารโรงจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกและรับทรัพย์สินโดยไม่ชอบตามมาตรา 149 แห่ง ป.อ. มิใช่ความผิดอันยอมความได้ แม้ไม่มีคำร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการก็มีอำนาจฟ้องคดีได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นพนักงานเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ตำแหน่งนักบริหารการศึกษา 5 (หัวหน้าฝ่ายการศึกษา) จำเลยได้พูดจูงใจให้ผู้เสียหายที่ 1 กับผู้เสียหายที่ 2 มอบเงินให้แก่จำเลยคนละ30,000 บาท โดยไม่ชอบ เพื่อจำเลยจะได้ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานดังกล่าวกระทำการช่วยเหลือให้ผู้เสียหายที่ 1 กับบุตรของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับบรรจุเข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำตำแหน่งนักการภารโรง โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ โดยไม่ชอบด้วยหน้าที่และโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา5, 13
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เชื่อได้ว่าจำเลยได้เรียกและรับเงินจากผุ้เสียหายคนละ 30,000 บาทจริง คดีนี้จำเลยเบิกความว่าการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นนักการภารโรงครั้งนี้ก็เพื่อบรรจุแทนนายโอภาสที่ลาออกไป ได้ความตามคำนางมยุรี ยงเจริญ ครูใหญ่โรงเรียนเทศบาลวัดศรีบุญเรือง พยานจำเลยว่า นายโอภาสลาออกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2525 การที่จำเลยให้นายโอภาสไปติดต่อหาคนมาสมัครเป็นนักการภารโรงแทน กับเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่นายโอภาสจะลาออกจากงานแสดงว่าจำเลยกับนายโอภาสรู้เห็นและสมคบกันที่จะหลอกลวงเอาเงินจากผู้เสียหายทั้งสองมาแต่แรก ตามที่โจทก์นำสืบก็ได้ความว่า ในการรับเงินจากผู้เสียหายครั้งหลังที่ร้านอาหารภิรมย์ จำเลยก็ได้มอบเงินให้แก่นายโอภาสเป็นค่าวิ่งเต้นและค่าที่ได้ลาออกจากตำแหน่งนักการภารโรงไปเป็นเงิน10,000 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเรียกและรับทรัพย์สินสำหรับตนเองและผู้อื่นโดยไม่ชอบและเห็นว่าจำเลยเป็นพนักงานเทศบาลย่อมมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายอาญาดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 44 ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการศึกษาที่จำเลยดำรงอยู่นั้นมีหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล เช่น การสอบบรรจุแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนชั้นครูและนักการภารโรง ของโรงเรียนในสังกัดเทศลาลเมืองกาฬสินธุ์ด้วย การรับสมัครคัดเลือกตำแหน่งนักการภารโรงครั้งนี้จำเลยก็รับว่าจำเลยเป็นผู้เสนอให้มีการคัดเลือกขึ้น จึงเป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่ของจำเลย การที่นายกเทศมนตรีเมืองกาฬสินธุ์มีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการและเลขานุการดำเนินการคัดเลือกนักการภารโรง เป็นการแต่งตั้งจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานอยู่แล้วให้ปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทยที่วางไว้อีกชั้นหนึ่ง หาได้หมายความว่าก่อนหน้าจำเลยไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 499/2496 ที่จำเลยอ้างมาข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จำเลยต้องมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกและรับทรัพย์สินโดยไม่ชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตามที่โจทก์ฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายทั้งสองให้เงินจำเลยโดยผิดกฎหมาย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่กรณีความผิดอันยอมความได้ แม้ไม่มีคำร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยกระทำความผิดและพิพากษาลงโทษจำเลยมาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share