แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว เมื่อ ด. ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นคนวิกลจริต จนต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ ด. ยังคงเป็นคนวิกลจริต ไม่อาจบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ดังนี้ที่จำเลยต่อสู้ว่า ด. บอกล้างนิติกรรมถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี แล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้ ด. อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลย่อมมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 175 (2) และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาล ด. อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 181 แล้ว นิติกรรมที่ ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำฟ้องคืนแก่ ด. ของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคสาม
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยไม่กระทำ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นั้น เมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้ว คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสีย ไม่จำต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมดังกล่าวตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้อีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนให้ที่ดินตามโฉนดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างนางสาว ด. กับจำเลย และบังคับให้จำเลยจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมการให้และโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวคืนแก่นางสาว ด. หากจำเลยไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาว ด. ประมาณกลางปี 2552 ขณะที่จำเลยมีภริยาที่จดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว จำเลยไปอยู่กินฉันสามีภริยากับนางสาว ด. ที่บ้านของนางสาว ด. ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 31638 และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 นางสาว ด.จดทะเบียนให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้นางสาว ด.เป็นคนไร้ความสามารถ ให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า นิติกรรมโอนใส่ชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆียะหรือไม่ โจทก์มีนางศุภมาส น้องนางสาว ด. มาเบิกความเป็นพยานว่า ต้นปี 2547 นางสาว ด. มีอาการป่วยทางจิตเวช แสดงตนเป็นเทพเจ้า ส่งเสียงเอะอะโวยวายโดยไม่รู้สึกตัว จึงเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลศรีธัญญาและโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ต่อมาต้นปี 2552 จำเลยใช้อุบายหลอกลวงนางสาว ด. ให้หลงเชื่อว่าจำเลยไม่มีภริยามาก่อนและมีความจริงใจพร้อมที่จะสร้างครอบครัวให้มีความสุข ทั้งจะช่วยดูแลนางสาว ด.ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังจากนั้นนางสาว ด. จึงยอมให้จำเลยมาอยู่กินด้วย วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 นางสาว ด. จดทะเบียนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมโดยไม่มีค่าตอบแทน หลังจากนั้นจำเลยทำร้ายร่างกายและข่มขู่นางสาว ด. ทั้งมีผู้หญิงโทรศัพท์มาหานางสาว ด. อ้างว่าเป็นภริยาจำเลยให้นางสาว ด. เลิกกับจำเลย มิฉะนั้นจะแจ้งความดำเนินคดีแก่นางสาว ด. พยานพานางสาว ด. ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานและไปตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนสมรสของจำเลย ปรากฏว่าจำเลยมีภริยาที่จดทะเบียนสมรสอยู่ก่อนแล้ว พยานพานางสาว ด. ไปแจ้งความเป็นหลักฐาน หลังการจดทะเบียนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม จำเลยขอเลิกกับนางสาว ด. แต่ไม่โอนที่ดินคืน คำเบิกความของพยานดังกล่าวสอดคล้องกับใบตรวจรักษาของโรงพยาบาลศรีธัญญาและเวชระเบียนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ซึ่งระบุว่าในปี 2548 นางสาว ด. มีอาการพูดพร่ำก้าวร้าว คิดว่าตนเองเป็นต้นเหตุสึนามิ ต้นเหตุ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียใจ ตำหนิตัวเอง ฯลฯ และโจทก์มีนายคำพวงซึ่งเช่าบ้านติดกับบ้านของนางสาว ด. ตั้งแต่ปี 2540 มาเบิกความเป็นพยานว่า วันที่นางสาว ด. ไม่รับประทานยาจะมีอาการ โดยหากนางสาว ด. รับประทานยาจะมีอาการตัวแข็ง ตาลอย พูดรู้เรื่อง แต่ซึม พูดช้า หากไม่รับประทานยาอารมณ์ไม่อยู่กับร่องกับรอย นอกจากนี้โจทก์มีคำเบิกความของนายแพทย์พิชิตพงษ์ แพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา ในคดีหมายเลขดำที่ 149/2555 ของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) ว่า นางสาว ด. เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีธัญญาตั้งแต่ปี 2548 โดยป่วยเป็นโรคจิตเฉียบพลัน มีอาการทางจิต ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง หากไม่รับประทานยาจะมีอาการกำเริบไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ สมควรมีผู้ดูแล เป็นหลักฐาน คำเบิกความของพยานโจทก์จึงน่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังว่านางสาว ด.เป็นโรคจิตไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ จะควบคุมตัวได้ ต่อเมื่อรับประทานยา มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ อันเป็นคนวิกลจริต ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ต้นปี 2552 จำเลยและภริยาเดินผ่านซอยคู้บอน และแวะซื้อถั่วต้มจากนางสาว ด. ซึ่งขายริมถนนหลายครั้ง จนมีความสนิทสนม กลางปี 2552 นางสาว ด. ขอยืมเงินจำเลยไปซ่อมแซมและต่อเติมบ้าน และชวนจำเลยไปเที่ยวบ้านของนางสาว ด. บ้านดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินพิพาทโดยแบ่งเป็นห้องให้เช่า มีสภาพทรุดโทรม จำเลยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับนางสาว ด. จึงให้เงินแก่นางสาว ด. หลายครั้งรวมจำนวน 400,000 บาทเศษ เพื่อนำไปซ่อมแซมบ้าน และจำเลยซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้หลายอย่างให้นางสาว ด. นางสาว ด. จึงชวนจำเลยมาอยู่ที่บ้านด้วย นางสาว ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมเพื่อตอบแทนที่จำเลยออกค่าใช้จ่ายซ่อมแซมและต่อเติมบ้านจนแล้วเสร็จ นางสาว ด. มีสติสัมปชัญญะดี ประพฤติและประกอบกิจการงานเหมือนคนปกติทั่วไป จำเลยไม่เคยทราบว่านางสาว ด. สติไม่ดีและไม่เคยเห็นนางสาว ด. ไปพบแพทย์หรือรับประทานยาแต่อย่างใด ต้นเดือนเมษายน 2553 นางสาว ด. ไม่พอใจที่จำเลยจะกลับไปเยี่ยมบ้านที่ต่างจังหวัด จึงทวงที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย นั้น เห็นว่า จำเลยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยให้นางสาว ด. ยืมเงินจำนวน 400,000 บาท หลังจากนั้นจึงสนิทสนมกัน ซึ่งเป็นข้อพิรุธอย่างมากที่จำเลยรู้จักนางสาว ด. จากการที่จำเลยซื้อถั่วต้มริมถนนจากนางสาว ด. แต่กลับให้นางสาว ด. ยืมเงินจำนวนถึง 400,000 บาท ส่วนที่จำเลยอ้างว่า นางสาว ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมเพื่อตอบแทนที่จำเลยออกค่าใช้จ่ายซ่อมแซมและต่อเติมบ้านจนแล้วเสร็จ แต่จำเลยไม่มีหลักฐานการจ่ายเงินค่าซ่อมแซมและต่อเติมบ้านให้เห็นจริงตามที่จำเลยเบิกความ นอกจากนี้จำเลยให้การอ้างว่า นางสาว ด. ขอยืมเงินจำเลยไปซ่อมแซมบ้านเพราะรู้ว่าจำเลยมีเงินมาก แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามสัญญากู้เงินและสัญญาประนีประนอมยอมความว่า ก่อนหน้าที่จำเลยจะรู้จักกับนางสาว ด. นั้น จำเลยต้องกู้ยืมเงินจากนายเอกรัตน์ จำนวน 380,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และจำเลยไม่ชดใช้จนต่อมาถูกดำเนินคดี ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่น่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่านางสาว ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมเพื่อตอบแทนที่จำเลยออกค่าใช้จ่ายซ่อมแซมและต่อเติมบ้านจนแล้วเสร็จ แต่กลับทำให้มีเหตุผลให้เชื่อว่านางสาว ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม เนื่องจากนางสาว ด. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ทั้งจำเลยมาอยู่กับนางสาว ด. ฉันสามีภริยา จำเลยย่อมต้องทราบว่านางสาว ด. มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ส่วนที่จำเลยเบิกความว่า จำเลยให้นางสาว ด. ไปเรียนเย็บผ้าที่ศูนย์ฝึกอาชีพมีนบุรี เริ่มเรียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2552 ถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 และมีการโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนางศุภมาศตอบทนายโจทก์ถามติงว่า นางสาว ด. เย็บผ้าได้มาก่อนไปเข้ารับการฝึกอบรมแล้ว ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบปฏิเสธ จึงทำให้มีเหตุควรสงสัยว่านางสาว ด. ไปเรียนเย็บผ้าตลอดช่วงเวลาดังกล่าวจริงหรือไม่ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่านางสาว ด.ไปโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถึงกรรมสิทธิ์รวมด้วยตนเอง โดยจำเลยมีนายรณศักดิ์ นักวิชาการที่ดินชำนาญการมาเบิกความเป็นพยานว่า พยานสอบสวนสิทธิในการทำนิติกรรม นางสาว ด. แจ้งว่าจะให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม ตามบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวม (ไม่มีค่าตอบแทน) หากพูดจาไม่รู้เรื่องหรือมีอาการทางจิตและประสาทจะไม่ดำเนินการให้ นั้น ก็ปรากฏว่าในวันดังกล่าวจำเลยผู้รับโอนที่ดินพิพาทไปด้วยในฐานะสามีนางสาว ด. โดยได้ความจากนายรณศักดิ์ว่า กรณีต้องมีการยื่นคำขอ เจ้าหน้าที่จะสอบถามและรวบรวมเอกสารก่อนให้บัตรคิว หลังจากนั้นจึงมาพบพยาน โดยนายรณศักดิ์เบิกความว่า ได้สอบถามนางสาว ด. ถึงรายละเอียดต่าง ๆ รวมทั้งถามว่าจะให้จำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างหรือให้ถือกรรมสิทธิ์เฉพาะที่ดินพิพาทแต่ตามบันทึกข้อตกลงกรรมสิทธิ์รวม (ไม่มีค่าตอบแทน) ระบุว่าไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ขัดแย้งกับที่พยานเบิกความว่า มีการสอบถามว่าจะให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในสิ่งปลูกสร้างด้วย หรือไม่ คำเบิกความของพยานจำเลยปากนี้ที่ว่า นางสาว ด. เป็นผู้ตอบคำถามถึงรายละเอียดต่าง ๆ จึงมีเหตุให้ควรสงสัย พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้รับฟังได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านางสาว ด. ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นคนวิกลจริตและจำเลยรู้อยู่แล้วถึงความวิกลจริตของนางสาว ด. นิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ที่นางสาว ด. กระทำไปจึงตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 ที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยปัญหานี้และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่านิติกรรมดังกล่าว
มีผลสมบูรณ์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 (4) นั้น บุคคลวิกลจริตผู้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 30 จะบอกล้างนิติกรรมเสียได้ในขณะที่จริตของบุคคลนั้นไม่วิกลแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบดังได้วินิจฉัยข้างต้นรับฟังได้ว่า นางสาว ด. ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์เนื่องจากเป็นคนวิกลจริต จนต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้นางสาว ด. เป็นคนไร้ความสามารถและให้อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่านางสาว ด. ยังคงเป็นคนวิกลจริต ไม่อาจบอกล้างโมฆียะกรรมได้ ดังนี้ที่จำเลยต่อสู้ว่า นางสาว ด.บอกล้างนิติกรรมถึงวันฟ้องเกิน 1 ปี แล้ว จึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง (สาขามีนบุรี) มีคำสั่งให้นางสาว ด. อยู่ในความอนุบาลของโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้อนุบาลย่อมมีสิทธิบอกล้างโมฆียกรรมดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 175 (2) และการที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2555 ถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555 ซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้อนุบาลนางสาว ด. อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจให้สัตยาบันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 แล้ว นิติกรรมที่นางสาว ด. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเสน่หาย่อมตกเป็นโมฆะมาแต่แรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามคำฟ้องคืนแก่นางสาว ด. ของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคสาม ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยไม่กระทำ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นั้น เมื่อนิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะแล้ว คู่กรณีย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงต้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเสีย ไม่จำต้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนยกเลิกนิติกรรมดังกล่าวตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้อีก
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 31638 ตำบลจระเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 ระหว่างนางสาว ด. กับจำเลย และให้ที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของนางสาว ด. คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ