แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การโอนโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกระทรวงกลาโหมสังกัดกรมการพลังงานทหาร ไปเป็นพนักงานของจำเลยตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 60 ถือเป็นการให้ออกจากงานเดิมเพราะเหตุยุบตำแหน่งหรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และไม่นับอายุการทำงานติดต่อกัน จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ การบรรจุหรือแต่งตั้งบุคคลใดเป็นพนักงานของจำเลย ต้องอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 9(1) ที่กำหนดว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีสัญชาติไทย โจทก์ไม่มีสัญชาติไทยจึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานของจำเลย และกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 9 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่จำเลยจะต้องจ้างโจทก์เพราะความจำเป็นตามลักษณะงานของจำเลย โจทก์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา11(3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุขาดคุณสมบัติดังกล่าวจึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทั้งไม่ใช่กรณีเลิกจ้างที่จะต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและเงินบำเหน็จจากจำเลยโดยคำนวณจากอายุการทำงานในช่วงที่เป็นพนักงานของจำเลยเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลิกจ้าง ให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม หากเห็นว่าโจทก์ไม่อาจทำงานร่วมกับจำเลยต่อไปได้ ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย บำเหน็จพร้อมดอกเบี้ย กับค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลย จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะไม่มีสัญชาติไทย จึงขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ การเลิกจ้างเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย และเงินบำเหน็จพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยกโจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์อุทธรณ์ประการแรกตามข้อ 2.1 ว่า เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัทซัมมิท จำกัดโดยได้รับใบอนุญาตทำงานตามเอกสารหมาย จ.4 แล้วโอนมาเป็นลูกจ้างสังกัดกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม ซึ่งหมายความว่า โจทก์ได้ผ่านการพิจารณาจากทางราชการกระทรวงกลาโหมให้โจทก์มีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับลูกจ้างอื่นที่มีสัญชาติไทย ที่จะได้รับสิทธิโอนเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลย ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 60 โจทก์จึงได้รับความคุ้มครองที่จะต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยไม่ว่าโจทก์จะมีสัญชาติไทยหรือไม่พิเคราะห์แล้ว พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521มาตรา 60 ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่า “ให้โอนบรรดาข้าราชการและลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมที่อยู่ในสังกัดกรมการพลังงานทหารและโรงกลั่นน้ำมันตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดไปเป็นของ ปตท. ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา แต่ต้องไม่เกินเจ็ดปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ข้าราชการและลูกจ้างซึ่งโอนไปตามวรรคหนึ่งมีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ ปตท.แล้วแต่กรณีตั้งแต่วันที่กำหนดในประกาศนั้น โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมจนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ฯลฯ”
จากบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อข้าราชการหรือลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมในสังกัดกรมการพลังงานทหารและโรงกลั่นน้ำมันที่ได้โอนมาตามความในวรรคหนึ่งแล้ว ก็ย่อมมีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยต่อไปซึ่งเป็นการโอนโดยผลของกฎหมาย แต่โดยที่จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจดังนั้นในการบรรจุหรือแต่งตั้งให้บุคคลใดเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจซึ่งหมายความรวมถึงลูกจ้างด้วยนั้น จะต้องตกอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 ซึ่งกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้ในมาตรา 9 ว่า “พนักงานของรัฐวิสาหกิจนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้สำหรับรัฐวิสาหกิจนั้น ๆ แล้ว ยังต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ด้วย
(1) มีสัญชาติไทย ฯลฯ” ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้มีสัญชาติไทยโจทก์จึงตกเป็นผู้ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยได้ โจทก์จะอ้างว่า โจทก์ได้รับความคุ้มครองที่จะต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยไม่ว่าโจทก์จะมีสัญชาติไทยหรือไม่นั้นหาได้ไม่ที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่ากรณีของโจทก์ยังต้องด้วยข้อยกเว้นตามความในมาตรา 9 วรรคสองนั้นความในมาตรา 9 วรรคสองของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีความว่า “ความใน (1) มิให้ใช้บังคับแก่พนักงานชาวต่างประเทศซึ่งรัฐวิสาหกิจมีความจำเป็นต้องจ้างตามลักษณะงานของรัฐวิสาหกิจนั้น ฯลฯ” ซึ่งมีความหมายว่า รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างได้พิจารณาถึงความจำเป็นของลักษณะงานที่จะต้องจ้างพนักงานที่มิได้มีสัญชาติไทยให้ปฏิบัติงานของรัฐวิสาหกิจนั้นโดยเฉพาะแล้ว รัฐวิสาหกิจก็อาจพิจารณาจ้างผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทยเข้าเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจเพื่อประโยชน์ของงานในลักษณะนั้นได้โดยไม่ต้องห้ามตามมาตรา 9(1) สำหรับกรณีของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เล็งเห็นและได้พิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์ตามลักษณะงานดังกล่าวแต่อย่างใด และการโอนโจทก์มาเป็นลูกจ้างของจำเลยตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2521 ก็หาได้อ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์เป็นพิเศษไว้ไม่ เมื่อโจทก์เป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าว โจทก์จึงต้องพ้นจากตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 11(3) จำเลยจึงมีสิทธิให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งโดยการเลิกจ้างได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมดังข้ออุทธรณ์ของโจทก์ เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้ กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาที่ว่า จำเลยจะนำข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4(พ.ศ. 2523) ว่าด้วย การบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกันการเลื่อนขั้นเงินเดือนและค่าจ้าง และการถอดถอนพนักงานและลูกจ้าง มาใช้บังคับในการเลิกจ้างโจทก์ได้หรือไม่นั้นต่อไป
โจทก์อุทธรณ์ประการต่อไปตามข้อ 2.2 ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุโจทก์ไม่มีสัญชาติไทย กรณีไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามมาตรา 582พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 บัญญัติว่า”ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร ท่านว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเลิกสัญญาด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่ง เพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าก็อาจทำได้ แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสามเดือน ฯลฯ”เป็นบทบัญญัติเรื่องการบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างส่วนการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจจะต้องมีสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518มาตรา 9(1) นั้น เป็นบทกฎหมายที่กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจไว้โดยเฉพาะมิได้เกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างกรณีเช่นนี้จะนำบทบัญญัติมาตรา 582 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่การเลิกจ้างเพราะเหตุขาดคุณสมบัติดังกล่าวมิได้ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ขาดคุณสมบัติโดยไม่มีสัญชาติไทย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกตามข้อ (1) มีว่าการนับอายุการทำงานของโจทก์ ได้มีพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 60 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนด การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2523 มาตรา 5บัญญัติไว้โดยเฉพาะซึ่งไม่อาจนับอายุการทำงานเดิมติดต่อกับอายุการทำงานกับจำเลยได้ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 60 บัญญัติว่า “ให้โอนบรรดาข้าราชการและลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมที่อยู่ในสังกัดกรมการพลังงานทหารและโรงกลั่นน้ำมัน ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกำหนดไปเป็นของ ปตท. ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา แต่ต้องไม่เกินเจ็ดปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัติ นี้ใช้บังคับ
เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ข้าราชการและลูกจ้างซึ่งโอนไปตามวรรคหนึ่งมีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของ ปตท. แล้วแต่กรณีตั้งแต่วันที่กำหนดในประกาศนั้น โดยให้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างทั้งสิทธิและประโยชน์ต่าง ๆ เท่าที่เคยได้รับอยู่เดิมจนกว่าผู้ว่าการจะได้บรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง
การโอนข้าราชการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากประจำการเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
การโอนลูกจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง”ศาลฎีกาเห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่มีข้อความใดระบุไว้ว่าให้นับอายุการทำงานของลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมที่อยู่ในสังกัดกรมการพลังงานทหารและโรงกลั่นน้ำมัน ติดต่อกับอายุการทำงานที่เป็นลูกจ้างของจำเลย แต่กลับให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเดิมเพราะเหตุยุบตำแหน่งหรือเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดโดยให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง ซึ่งแสดงว่าอายุการทำงานของลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมในสังกัดกรมการพลังงานทหารและโรงกลั่นน้ำมันจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่โอนมาเป็นพนักงานของจำเลย และลูกจ้างมีสิทธิได้รับบำเหน็จไปขั้นตอนหนึ่งแล้วหากจะให้ลูกจ้างที่โอนมาอยู่กับจำเลยมีสิทธินับอายุการทำงานติดต่อกันได้แล้ว ผลจะเป็นว่าลูกจ้างผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจากจำเลยเพิ่มขึ้นตามอายุการทำงานเดิมนั้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของกระทรวงกลาโหมในสังกัดกรมการพลังงานทหารและได้โอนมาเป็นลูกจ้างของจำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้นับอายุการทำงานติดต่อกันได้ อายุการทำงานของโจทก์จึงต้องนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2528 จนถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2528เป็นเวลา 7 เดือน 20 วัน โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46(1) ในค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันเป็นเงินจำนวน 6,848 บาท สำหรับเงินบำเหน็จนั้น จำเลยได้มีข้อบังคับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 20พ.ศ. 2524 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จ เอกสารหมาย ล.7 และโจทก์มีอายุการทำงาน 7 เดือน 20 วัน ซึ่งให้คิดเป็น 1 ปี ตามข้อ 10โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จจำนวน 6,848 บาท ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธินับอายุการทำงานติดต่อกันรวมเป็น4 ปี 7 เดือนเศษ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 6,848 บาทกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน2528 เงินบำเหน็จจำนวน 6,848 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง