คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องสรุปใจความได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตอาหารประเภทเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห่งที่ต้องละลายก่อนบริโภคบรรจุซองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๖๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของเครื่องดื่มเกลือแร่ ๑ ลิตร ต้องมีปริมาณโซเดียม ๔๐ มิลลิอิควิวาเลนท์ แต่เครื่องดื่มเกลือแร่ที่จำเลยทั้งสองผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายมีปริมาณโซเดียมมากถึง๑๑๕ มิลลิอิควิวาเลนท์ ต่อเครื่องดื่มเกลือแร่ ๑ ลิตร มีปริมาณโซเดียมเกินกว่าร้อยละ ๑๘๗.๕ จากเกณฑ์สูงสุดตามกฎหมายจึงเป็นอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ถึงขนาดส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารมีปริมาณเกินกว่าร้อยละ ๓๐ จากเกณฑ์สูงสุดและแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทำให้เกิดโทษหรืออันตรายแก่ร่างกายผู้บริโภค อันเป็นอาหารปลอมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้มิได้บรรยายว่าเมื่อบริโภคโซเดียมเข้าสู่ร่างกายมากตามฟ้องแล้วจะทำให้ผู้บริโภคได้รับโทษหรืออันตรายอย่างไร ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณาหากจำเลยให้การปฏิเสธ
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์จำเลยทั้งสองจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า โซเดียมจำนวนตามที่โจทก์ฟ้องไม่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายหรือไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งมิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๕, ๖(๑) (๒) (๑๐), ๒๕(๒), ๒๗(๕), ๕๙ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ ๖๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ลงวันที่ ๑๑ มกราคม๒๕๒๕ เรื่อง เครื่องดื่มเกลือแร่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๕, ๖(๑) (๒) (๑๐), ๒๕(๒), ๒๗(๕), ๕๙ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ ๖๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ลงวันที่ ๑๑ มกราคม๒๕๒๕ เรื่อง เครื่องดื่มเกลือแร่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓จำเลยที่ ๑ ให้ปรับ ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ จำคุก ๒ ปี ปรับ ๕๐,๐๐๐บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ เห็นสมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ปรับจำเลยที่ ๑ จำนวนเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๑ ปี ปรับ ๒๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่ามิได้เจตนากระทำผิดนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแต่ศาลชั้นต้นทั้งขัดกับคำให้การรับสารภาพ จึงไม่รับวินิจฉัย และศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลยทั้งสองเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้วไม่มีเหตุให้ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว จำเลยทั้งสองฎีกาข้อ ๒.๑ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามมาตรา ๒๕(๒), ๒๗(๕)และ ๕๙ แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามา เพราะโซเดียม (เกลือแกง) จำนวน ๑๑๕ มิลลิอิควิวาเลนท์ไม่ทำให้เกิดโทษหรือเป็นอันตรายต่อร่างกายปรากฏตามความเห็นของแพทย์ เอกสารท้ายฎีกา ผลเกลือแร่ที่จำเลยทั้งสองผลิตจึงไม่เป็นอาหารปลอม การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่ครบองค์ประกอบของความผิดฐานผลิตอาหารปลอมตามมาตรา ๒๗(๕) พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตอาหารประเภทเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้งที่ต้องละลายก่อนบริโภค ซึ่งจะต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐานของเครื่องดื่มเกลือแร่ ๑ ลิตร ต้องมีปริมาณโซเดียม ๔๐มิลลิอิควิวาเลนท์ แต่เครื่องดื่มเกลือแร่ที่จำเลยผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายมีปริมาณโซเดียมมากถึง ๑๑๕ มิลลิอิควิวาเลนท์ต่อเครื่องดื่มเกลือแร่ ๑ ลิตร จึงมีปริมาณโซเดียมเกินกว่าร้อยละ ๑๘๗.๕ จากเกณฑ์สูงสุดตามกฎหมาย จึงเป็นอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ถึงขนาดส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารมีปริมาณเกินกว่าร้อยละ ๓๐ จากเกณฑ์สูงสุด และแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทำให้เกิดโทษหรืออันตรายแก่ร่างกายผู้บริโภคอันเป็นอาหารปลอม ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพข้อเท็จจริงจึงฟังได้ดังฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองจะมาโต้เถียงในชั้นฎีกาว่า โซเดียมจำนวนตามที่โจทก์ฟ้องไม่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกายหรือไม่เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคหาได้ไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ทั้งเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา ซึ่งมิได้ว่ากันมาในศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มาเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อ ๒.๒ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ครบองค์ประกอบของความผิดและไม่แสดงชัดแจ้งว่าโซเดียมเป็นสารที่เป็นพิษอย่างไร หากบริโภคแล้วจะได้รับโทษหรืออันตรายอย่างไร จึงเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘(๕) นั้น พิเคราะห์แล้วคดีนี้โจทก์มุ่งประสงค์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานผลิตอาหารปลอมซึ่งความหมายของคำว่า “อาหารปลอม” ตามมาตรา ๒๗(๕) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ บัญญัติว่า “อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดตามมาตรา ๖(๒) หรือ (๓)ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่าส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทำให้เกิดโทษหรืออันตราย”โจทก์บรรยายฟ้องสรุปใจความได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันผลิตอาหารประเภทเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้งที่ต้องละลายก่อนบริโภคบรรจุซองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นอาหารควบคุมเฉพาะตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ ๖๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕) ที่กำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของเครื่องดื่มเกลือแร่ ๑ ลิตร ต้องมีปริมาณโซเดียม ๔๐ มิลลิอิควิวาเลนท์ แต่เครื่องดื่มเกลือแร่ที่จำเลยทั้งสองผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายมีปริมาณโซเดียมมากถึง ๑๑๕ มิลลิอิควิวาเลนท์ต่อเครื่องดื่มเกลือแร่ ๑ ลิตรจึงมีปริมาณโซเดียมเกินกว่าร้อยละ ๑๘๗.๕ จากเกณฑ์สูงสุดตามกฎหมายจึงเป็นอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ถึงขนาดส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารมีปริมาณเกินกว่าร้อยละ ๓๐ จากเกณฑ์สูงสุดและแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทำให้เกิดโทษหรืออันตรายแก่ร่างกายผู้บริโภค อันเป็นอาหารปลอมโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีจึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์ไม่บรรยายว่าเมื่อบริโภคโซเดียมเข้าสู่ร่างกายมากตามฟ้องแล้วจะทำให้ผู้บริโภคได้รับโทษหรืออันตรายอย่างไรนั้นเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงที่จะนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หากจำเลยให้การปฏิเสธ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share