แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในสามเดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรก การที่จำเลยแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นวันที่31 ธันวาคม 2531 แล้วมอบให้โจทก์ไปเรียกเก็บเงินอีกครั้งหนึ่งแต่ธนาคารตามเช็คคงปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นเดิม จะถือว่าจำเลยกระทำผิดครั้งใหม่ไม่ได้ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23มกราคม 2532 เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คครั้งแรก จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 จำคุก 9 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาว่า จำเลยออกเช็คพิพาทลงวันที่ 1 สิงหาคม 2529 ให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ 125,000 บาท เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน2529 โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินจำเลยจึงแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2531แล้วมอบให้โจทก์ไปเรียกเก็บเงินอีกครั้ง ครั้นวันที่ 4 มกราคม2532 โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินครั้งที่ 2 แต่ธนาคารตามเช็คคงปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นเดิม ปัญหาที่เห็นควรจะวินิจฉัยข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2529 โจทก์จะต้องฟ้องคดีภายในสามเดือน นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินครั้งแรก การที่จำเลยแก้ไขวันเดือนปีในเช็คพิพาทเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2531 แล้วมอบให้โจทก์ไปเรียกเก็บเงินอีกครั้งแต่ธนาคารตามเช็คคงปฏิเสธการจ่ายเงินเช่นเดิมนั้น จะถือว่าจำเลยกระทำผิดครั้งใหม่ไม่ได้โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2532 จึงเกิน 3 เดือนนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คครั้งแรก ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ปัญหาข้ออื่นจึงไม่จำต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน