คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1716/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มีพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534ออกมาใช้บังคับแทน โดยกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลัง ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายจึงจะเป็นความผิด เมื่อหนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยมีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาท และไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้เป็นหนังสือ จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ฟ้องร้องขอให้บังคับคดี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534มาตรา 4 การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องจำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา2 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนมีนาคม 2529 เวลากลางวันจำเลยสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขานางรองจำนวนเงิน 60,000 บาท ลงวันที่ 30 มกราคม 2530 เพื่อเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2529 เวลากลางวัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คของธนาคารทหารไทย จำกัด สาขานางรอง เลขที่1869443 จำนวนเงิน 20,000 บาท ลงวันที่ 30 มกราคม 2530 เพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ต่อมาวันที่ 30 มกราคม 2530 โจทก์นำเช็คทั้งสองฉบับไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดสาขานางรอง เพื่อเรียกเก็บเงินปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานออกเช็คพิพาท หมาย จ.1 จำคุก 4 เดือน และฐานออกเช็คพิพาทหมายจ.2 จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามคงลงโทษจำเลย 4 เดือนจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด แต่ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา กฎหมายฉบับที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ถูกยกเลิกไปแล้ว มีกฎหมายฉบับใหม่คือพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ออกมาใช้บังคับแทน ปรากฏว่ากฎหมายฉบับใหม่ที่ออกภายหลัง การออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้นต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คดีนี้โจทก์นำสืบว่า จำเลยออกเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมที่มิได้ทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความตามที่โจทก์นำสืบ ก็เป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เพราะเรื่องการกู้ยืมเงินกันนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา653 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้ยืมเงินกว่าห้าสิบบาทขึ้นไปนั้นถ้ามิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หนี้เงินกู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยมีจำนวนเกินกว่าห้าสิบบาท เมื่อไม่มีการทำหลักฐานแห่งการกู้ยืมกันไว้เป็นหนังสือจึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามตามกฎหมายมิให้ฟ้องร้องขอให้บังคับคดีการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลัง การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นความผิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง จำเลยก็พ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง”
พิพากษายืน

Share