คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2758/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ผู้ทรงเช็คได้รับเช็คที่มีผู้สั่งจ่ายรายเดียวกันไว้ในครอบครองหลายฉบับแม้จะเป็นการชำระหนี้ในมูลหนี้ในมูลหนี้เดียวกันก็ไม่ถือว่าเช็คแต่ละฉบับมีความเกี่ยวพันกัน เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตามเช็คแต่ละฉบับได้ไม่จำต้องใช้สิทธิเรียกร้องตามเช็คทั้งหมดไปในคราวเดียวกัน การใช้สิทธิเรียกร้องในเช็คแต่ละฉบับโดยยื่นฟ้องเป็นหลายคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ตามเช็คต่างฉบับกันไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ที่มีการออกเช็คชำระหนี้ทั้งยังเป็นคดีที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแยกต่างหากจากกันตามเช็คแต่ละฉบับด้วย แม้เช็คพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งของเช็คหลายฉบับที่โจทก์ได้รับมาในคราวเดียวกัน โจทก์ก็มีสิทธินำเช็คดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องเป็นคดีต่างหากจากกันได้ การที่โจทก์นำเช็คจำนวนหนึ่งไปฟ้องคดีแพ่ง และนำเช็คพิพาทมาฟ้องคดีนี้จึงมิใช่การยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกัน อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2545 ผู้มีชื่อได้นำเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเสนา จำนวนเงินฉบับละ 120,000 บาท จำนวน 6 ฉบับ รวมเป็นเงิน 720,000 บาท ลงวันที่สั่งจ่ายฉบับแรกวันที่ 10 มกราคม 2546 และทุกวันที่ 10 ของเดือนถัดไป โดยมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย มาชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระเงินโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 6 ฉบับ โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินตามเช็คแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คดังกล่าว นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 752,643 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 720,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ จำเลยไม่เคยออกเช็คทั้ง 6 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ได้สมคบคิดกับผู้มีชื่อนำเช็คดังกล่าวซึ่งมูลหนี้ระงับแล้วมาทำการฉ้อฉลจำเลยอันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย หนังสือสัญญากู้ยืมท้ายฟ้องเป็นเอกสารปลอมทำขึ้นโดยฉ้อฉลเพื่อจะสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จขึ้นมาว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่นำสืบรับกันรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อประมาณปี 2543 จำเลยจัดตั้งวงแชร์ขึ้น 4 วง โดยจำเลยเป็นหัวหน้าวงแชร์ ส่วนลูกวงแชร์ส่วนใหญ่จะเป็นญาติพี่น้องจำเลย นายสิทธิพงษ์ ซึ่งเป็นน้องชายโจทก์และเป็นญาติจำเลยทางภริยา ร่วมเล่นแชร์กับจำเลยด้วยทั้ง 4 วง กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2544 แชร์ทุกวงมีปัญหาขัดแย้งระหว่างลูกวงแชร์ จำเลยจึงยกเลิกวงแชร์และออกเช็คสั่งจ่ายเงินฉบับละ 120,000 บาท รวม 18 ฉบับ และฉบับละ 40,000 บาท อีก 1 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าแชร์มอบแก่นายสิทธิพงษ์กับพวกอีก 2 คน ต่อมาโจทก์นำเช็คของจำเลยดังกล่าวซึ่งจ่ายเงินฉบับละ 120,000 บาท รวม 6 ฉบับ มาฟ้องเรียกเงินจากจำเลย โดยอ้างว่านายสิทธิพงษ์นำเช็คดังกล่าวไปชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 ให้จำเลยรับผิดใช้เงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 523/2547 จำเลยอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในวันที่ 8 มกราคม 2547 โจทก์นำเช็คที่จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายอีก 6 ฉบับ อ้างว่าได้รับชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจากนายสิทธิพงษ์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 523/2547 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง บัญญัติว่า “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้ (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่น…” มีความมุ่งหมายว่า คดีเรื่องเดียวกันโจทก์ควรจะฟ้องร้องว่ากล่าวกันไปเสียให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน ส่วนคดีใดจะเป็นคดีเดียวกันหรือไม่ต้องพิจารณาจากคำฟ้องในคดีนั้น ๆ ว่า เป็นคดีที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกันหรือไม่ เช็คเป็นตั๋วเงินซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาประเภทหนึ่ง เช็คแต่ละฉบับก่อให้เกิดมูลหนี้ผูกพันระหว่างผู้ทรงเช็ค ผู้สลักหลัง และผู้สั่งจ่ายในตัวเองซึ่งกฎหมายกำหนดสิทธิ หน้าที่และความเกี่ยวพันระหว่างกันไว้เป็นการเฉพาะ การที่ผู้ทรงเช็คได้รับเช็คที่มีผู้สั่งจ่ายรายเดียวกันไว้ในครอบครองหลายฉบับแม้จะเป็นการชำระหนี้ในมูลหนี้เดียวกันก็ไม่ถือว่าเช็คแต่ละฉบับมีความเกี่ยวพันกัน เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น ผู้ทรงเช็คย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตามเช็คแต่ละฉบับได้ หาจำต้องใช้สิทธิเรียกร้องตามเช็คทั้งหมดไปในคราวเดียวกันแต่อย่างใดไม่ การใช้สิทธิเรียกร้องในเช็คแต่ละฉบับโดยยื่นฟ้องเป็นหลายคดีเพื่อบังคับชำระหนี้ตามเช็คต่างฉบับกัน ไม่ใช่การใช้สิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ที่มีการออกเช็คชำระหนี้ ทั้งยังเป็นคดีที่มีสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแยกต่างหากจากกันตามเช็คแต่ละฉบับด้วย คดีนี้ แม้เช็คพิพาทจะเป็นส่วนหนึ่งของเช็คหลายฉบับที่โจทก์ได้รับมาในคราวเดียวกันก็ตาม แต่โจทก์ก็ย่อมมีสิทธินำเช็คดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องเป็นคดีต่างหากจากกันได้ การที่โจทก์นำเช็คจำนวนหนึ่งไปฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 523/2547 ของศาลชั้นต้น และนำเช็คพิพาทมาฟ้องคดีนี้ จึงหาใช่การยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกัน อันจะเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 523/2547 ของศาลชั้นต้นนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่นั้น ศาลล่างยังมิได้วินิจฉัย แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์จำเลยได้นำพยานมาสืบในประเด็นดังกล่าวจนสิ้นกระแสความแล้ว ทั้งคดีได้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาโดยโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวด้วย ดังนั้น เพื่อมิให้คดีต้องเนิ่นช้าออกไปอีก ศาลฎีกาเห็นควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวมาวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวนลงไปเพื่อให้วินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล ปัญหาข้อนี้ โจทก์นำสืบโดยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า เช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ เป็นเช็คที่นายสิทธิพงษ์ นำมาชำระหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยนายสิทธิพงษ์กู้เงินโจทก์ไป 1,560,000 บาท ตามสัญญากู้และใบรับเงินกู้ตามเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 และมีนางพรทิพย์ ซึ่งเป็นภริยาของนายสิทธิพงษ์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อจำเลยมีปัญหากับลูกวงแชร์ จำเลยเรียกนายสิทธิพงษ์ไปพูดคุยกัน นายสิทธิพงษ์มอบหมายให้พยานไปแทน จำเลยตกลงมอบเช็คพิพาททั้ง 6 ฉบับ ให้แก่นายสิทธิพงษ์เป็นค่าเสียหายจากการเล่นแชร์ และทำบันทึกการยกเลิกการเล่นแชร์โดยระบุว่ามีการชำระค่าเสียหายกันแล้ว ตามเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 ส่วนจำเลยนำสืบว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเพื่อชำระหนี้การยกเลิกวงแชร์จริง โดยมอบให้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2544 ต่อมาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2544 นางปุ้ม นางกุ้ง และนางพรทิพย์ได้มาพบขอเปลี่ยนเช็คเป็นเงินสด แต่จำเลยไม่มีเงินสด จึงโอนทาวน์เฮาส์จำนวน 2 หลัง และที่ดินว่างเปล่าหน้าทาวน์เฮาส์เพื่อเป็นการชำระหนี้โดยใส่ชื่อนายสมบัติ ซึ่งเป็นสามีของนางปุ้ม จำเลยไม่ได้ขอเช็คทั้งหมดคืน จึงทำบันทึกยกเลิกเช็คไว้ในเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.14 จำเลยไม่เชื่อว่าโจทก์กับนายสิทธิพงษ์มีการกู้ยืมเงินกันจริง เพราะโจทก์เป็นพี่สาวของนายสิทธิพงษ์ เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็ค ย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 บัญญัติสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยไว้ความว่า บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลเช็ค หาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่ายหรือผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ฉะนั้น คดีจึงไม่มีข้อพิจารณาว่าจำเลยได้ชำระหนี้แก่นายสิทธิพงษ์ซึ่งเป็นผู้ทรงคนก่อนไปแล้วหรือไม่ เพราะแม้จะชำระหนี้ไปแล้วจริงก็ไม่อาจจะยกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ คงมีข้อต้องพิจารณาเพียงว่า โจทก์ได้รับเช็คมาโดยคบคิดกันฉ้อฉลกับนายสิทธิพงษ์หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยนำสืบว่า เหตุที่คิดว่าโจทก์กับนายสิทธิพงษ์ไม่ได้เป็นหนี้กันจริง แต่คบคิดทำสัญญากู้ขึ้นมาเพื่อทำให้โจทก์เป็นผู้ทรงนำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลย เพราะโจทก์กับนายสิทธิพงษ์เป็นพี่น้องกัน แต่โจทก์กับนายสิทธิพงษ์จะมีหนี้สินต่อกันอย่างไร จำเลยไม่ทราบ ซึ่งเป็นการนำสืบลอย ๆ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง ลำพังการที่โจทก์กับนายสิทธิพงษ์เป็นพี่น้องกันยังไม่เป็นข้อพิรุธที่แสดงว่าการทำสัญญากู้เป็นการคบคิดกันฉ้อฉล พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินตามเช็ค พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินแก่โจทก์”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 720,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับ นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกิน 32,643 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท

Share