คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 593/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อคำร้องของผู้ร้องระบุชัดว่า ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม ปฏิเสธที่จะจัดการมรดกเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกไม่เต็มใจที่จะ จัดการมรดกโดยไม่เข้ารับหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงชอบที่ผู้ร้อง จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกใหม่เพื่อจัดการมรดกต่อไป ผู้ร้องไม่อาจมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 เพราะการถอนผู้จัดการมรดก มาตรา 1727 นี้เป็นเรื่องที่ ผู้จัดการมรดกเข้ารับตำแหน่งแล้วละเลยไม่จัดการมรดกตามหน้าที่.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่านายชื้น สุขสัมผัส ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ยกทรัพย์มรดกคือที่ดินมีโฉนดรวม 4 แปลง ให้แก่ผู้ร้องโดยตั้งให้นายประทีป ยิ้มพลาย เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมนายประทีปไม่ลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่นายชื้นถึงแก่กรรม จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมานานนับเดือน ผู้ร้องจึงติดต่อให้นายประทีปไปสำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สาขาเสนาเพื่อให้ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมให้แก่ผู้ร้อง แต่นายประทีปไม่ยอมทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยไม่จดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าว ผู้ร้องได้ถามนายประทีปว่าจะเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมหรือไม่ นายประทีปไม่ตอบรับและไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม ถือได้ว่านายประทีปปฏิเสธการเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมดังกล่าวแล้วเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพินัยกรรม ผู้ร้องจึงขอให้ถอนนายประทีปจากการเป็นผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมของนายชื้น
ศาลชั้นต้นประกาศนัดไต่สวน ไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาในชั้นฎีกาว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำการไต่สวนและสั่งตามรูปความเป็นการชอบหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ตามคำร้องของผู้ร้องระบุว่านายประทีป ยิ้มพราย ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายชื้น สุขสัมผัส เจ้ามรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วันนับแต่นายชื้นถึงแก่กรรม จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมานานนับเดือน ผู้ร้องจึงติดต่อให้นายประทีปไปสำนักงานที่ดินเพื่อจดทะเบียนโอนมรดกตามพินัยกรรมแก่ผู้ร้อง แต่นายประทีปไม่ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก และไม่จดทะเบียนโอนมรดกดังกล่าว หลังจากนั้นผู้ร้องได้ถามนายประทีปให้ตอบว่าจะเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่โดยทอดเวลาให้ตอบนานกว่า 1 เดือนแล้ว แต่นายประทีปไม่ตอบรับ แต่เพิกเฉยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรม ถือว่านายประทีปปฏิเสธการเป็นผู้จัดการมรดก นั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 บัญญัติว่า “ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีต่อไปนี้… (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก…”
ตามคำร้องของผู้ร้องระบุชัดว่า นายประทีปผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมปฏิเสธที่จะจัดการมรดกรายนี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้จัดการมรดกไม่เต็มใจที่จะจัดการมรดกแล้ว โดยไม่เข้ารับหน้าที่ผู้จัดการมรดกเพียงนายประทีปไปสำนักงานที่ดินตามที่ผู้ร้องนัดเพื่อไปโอนมรดกแก่ผู้ร้องแล้วนายประทีปไม่จัดการอะไร ก็ไม่พอฟังว่านายประทีปเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการมรดกแล้ว ชอบที่ผู้ร้องจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกเสียใหม่ได้เพื่อจัดการมรดกรายนี้ต่อไปผู้ร้องไม่อาจมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมรายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 เพราะการถอนผู้จัดการมรดกมาตรา 1727 เป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกเข้ารับตำแหน่งแล้วละเลยไม่จัดการมรดกตามหน้าที่ ให้สิทธิผู้มีส่วนได้เสียร้องขอถอนเสียได้อย่างไรก็ดีตามมาตรา 1727 วรรคสอง ก็ระบุชัดว่าแม้ผู้จัดการมรดกเข้ารับตำแหน่งแล้ว ก็อาจลาออกจากตำแหน่งเสียได้โดยมีเหตุอันสมควรแต่ต้องได้รับอนุญาตจากศาล ดังนั้นเมื่อคำร้องของผู้ร้องบรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่านายประทีปไม่เต็มใจเข้าจัดการมรดกตามพินัยกรรมแล้วก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไต่สวนคำร้องของผู้ร้องอีกต่อไปเพราะไม่มีความจำเป็น ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นไม่ทำการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา…”
พิพากษายืน.

Share