แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (7) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก การที่จำเลยซึ่งทำงานเป็นผู้ดูแลและเก็บค่าบริการของร้านเกมชื่อ ร้านท้อปเกม ยินยอมให้ ว. อายุ 15 ปี และ ณ. อายุ 16 ปี ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส เข้าเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในร้านที่จำเลยดูแลในเวลา 2 นาฬิกาโดยเก็บเงิน 20 บาท ต่อการเล่นเกม 3 ชั่วโมง แม้การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ถือเป็นการนันทนาการ ไม่ใช่กีฬาตามที่จำเลยฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำใดๆ อันมีลักษณะใกล้เคียงกันจึงต้องได้รับความคุ้มครองเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าซึ่งในเวลาเช่นนั้นบุคคลทั้งสองต้องพักผ่อนหลับนอนเพื่อให้ได้รับการพัฒนาตามวัยอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของ ว. และ ณ. ตามมาตรา 26 (7)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26, 78
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (7), 78 จำคุก 3 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 เดือน ไม่ปรากฎว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ลงโทษกักขังจำเลยไว้มีกำหนด 2 เดือน แทนโทษจำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษกักขังจำเลยแทนโทษจำคุกและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ตรี ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและ วิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่ใช้บังคับขณะยื่นฎีกา ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า การที่นายวิทยาและนายณัฐสิทธิ์ซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เข้าเล่นเกมในเวลา 2 นาฬิกา ในร้านที่จำเลยดูแลก่อนและหลังเล่นเกมมีผลเป็นการขัดขวางการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กอย่างไร ขอให้ยกฟ้องหรือรอการลงโทษ เห็นว่า เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่รับวินิจฉัย ที่จำเลยฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่าวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 (7) เพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดแสวงหาประโยชน์จากเด็ก การที่นายวิทยา และนายณัฐสิทธิ์ ทำงานในเวลากลางคืน นอนเวลากลางวันและไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีความจำเป็นต้องตื่นนอนเช้าไปในโรงเรียน เมื่อเลิกงานแล้วยังไม่ง่วงนอนย่อมมีสิทธิจะเล่นอะไรเพื่อเป็นการผ่อนคลายก่อนกลับบ้าน การห้ามไม่ให้ร้านท๊อปเกมให้บริการแก่นายวิทยาและนายณัฐสิทธิ์เป็นการเลือกปฏิบัติต่อเด็กอันเป็นการละเมิดสิทธิ์เด็ก และการห้ามมิให้ร้านท๊อปเกมให้บริการเกมคอมพิวเตอร์แก่เด็กหลังเวลา 22.00 นาฬิกา จะต้องมีกฎหมายห้ามโดยเฉพาะนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 บัญญัติคุ้มครองเด็กมิให้ถูกกระทำทารุณกรรม เสี่ยงต่อการถูกกระทำทารุณกรรมหรือยุยง ส่งเสริมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือเสี่ยงต่อการกระทำผิดหรือใช้เด็กหรือแสวงหาประโยชน์จากเด็กโดยมิชอบ สำหรับมาตรา 26 (7) บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดบังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็ก การที่จำเลยยินยอมให้นายวิทยาและนายณัฐสิทธิ์ขณะเกิดเหตุอายุ 15 ปี และ 16 ปี ตามลำดับทั้งไม่ปรากฏว่าบุคคลทั้งสองบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสเข้าเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในร้านท๊อปเกมส์ที่จำเลยควบคุมดูแลในระหว่างเวลา 2 นาฬิกา ในวันเกิดเหตุ แม้การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ซึ่งถือว่าเป็นนันทนาการไมใช่กีฬา แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำใดๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันจึงต้องได้รับการคุ้มครองเช่นกัน การที่จำเลยยินยอมให้นายวิทยาและนายณัฐสิทธิ์เข้าเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในเวลาวิกาลโดยมีค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าซึ่งในเวลาเช่นนั้นบุคคลทั้งสองควรได้รับการพักผ่อนหลับนอนเพื่อได้รับการพัฒนาตามวัยการกระทำของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของนายวิทยาและนายณัฐสิทธิ์จึงเป็นความผิดตาม มาตรา 26 (7) แล้วที่จำเลยฎีกาว่าไม่มีกฎหมายห้าม จึงเป็นการเลือกปฏิบัติและเป็นขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของเด็กฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่อย่างไรก็ตามเห็นว่า ข้อหาที่จำเลยกระทำผิดไม่ร้ายแรงนัก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อนสมควรรอการลงโทษให้จำเลย แต่เห็นควรให้ปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติจำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 5,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขัง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1