แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการขับรถของทั้งสองฝ่ายว่าฝ่ายใดประมาทยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว จะเห็นได้ว่าหากจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังตามสมควรย่อมต้องมองเห็นรถจักรยานยนต์ที่ ก. ขับมาและต้องชะลอความเร็วไม่ให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน ขณะเดียวกัน ก. ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ย้อนเส้นทางเดินรถออกจากซอยก็จะต้องหยุดรถดูว่ามีรถแล่นมาทางด้านขวาหรือไม่ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับออกไป แต่ทั้งจำเลยที่ 1 และ ก. หาได้กระทำไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และ ก. ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,300,032 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นมารดาของนายกฤษณ์ ผู้ตาย จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ธ – 6542 กรุงเทพมหานคร (ป้ายแดง) ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 มาตามถนนในซอยสุขุมวิท 26 แล้วเกิดเหตุเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ยขว กรุงเทพมหานคร 96 ซึ่งมีนายกฤษณ์ เป็นผู้ขับ และนางสาวหนูกรานต์กับนางสาวอนุศยา นั่งซ้อนท้ายที่บริเวณปากซอยย่อยที่เชื่อมระหว่างถนนพละพงศ์พานิชกับถนนซอยสุขุมวิท 26 เป็นเหตุให้นายกฤษณ์ถึงแก่ความตาย และนางสาวหนูกรานต์กับนางสาวอนุศยาได้รับบาดเจ็บ และรถจักรยานยนต์ที่นายกฤษณ์ยืมมาจากนางประชุม ได้รับความเสียหาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นายกฤษณ์ถึงแก่ความตาย และจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โจทก์มีนางสาวอนุศยาเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ถนนซอยที่นายกฤษณ์ขับรถจักรยานยนต์เพื่อลัดออกสู่ซอยสุขุมวิท 26 เป็นถนนรถแล่นทางเดียว แต่นายกฤษณ์ขับรถจักรยานยนต์ย้อนศร และเมื่อนายกฤษณ์ขับรถจักรยานยนต์มาถึงปากซอยได้เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเข้าถนนซอยสุขุมวิท 26 พยานเห็นแสงไฟหน้ารถยนต์ที่แล่นมาด้านขวาจึงบอกให้นายกฤษณ์ระวัง นายกฤษณ์บอกว่าเห็นแล้ว ทันใดนั้นรถยนต์ก็ชนรถจักรยานยนต์ที่ด้านท้ายข้างขวาบริเวณท่อไอเสียและชนถูกบริเวณขาขวาของพยานด้วย ซึ่งจากคำเบิกความของพยานดังกล่าวขณะเกิดเหตุนั้น รถจักรยานยนต์ได้เลี้ยวซ้ายออกจากซอยแล้ว และมีนายปิยะพงศ์ อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ้ง เบิกความสนับสนุนว่า วันเกิดเหตุหลังรับแจ้งเหตุรถชนกันพยานได้เดินทางไปที่เกิดเหตุ พบรถจักรยานยนต์ที่นายกฤษณ์ขับได้รับความเสียหายที่ล้อหลังค่อนข้างมาก แม้ล้อหลังยังติดอยู่กับตัวรถ แต่มีลักษณะห้อยเกือบจะหลุดออกจากตัวรถ และพบผู้บาดเจ็บ 3 คน อยู่ห่างจากทางแยกพอสมควร ส่วนจำเลยทั้งสองมีจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุมาตามถนนซอยสุขุมวิท 26 ด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เมื่อขับมาถึงหน้าปากซอยย่อยที่เชื่อมระหว่างถนนพละพงศ์พานิชกับถนนซอยสุขุมวิท 26 นายกฤษณ์ขับรถจักรยานยนต์ย้อนศรออกมาจากปากซอยที่ตัดกับถนนซอยสุขุมวิท 26 ด้วยความเร็วและพุ่งชนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 โดยล้อด้านหน้าชนที่บริเวณบังโคลนหน้าซ้าย แต่เมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแล้ว ไม่ปรากฏว่ารถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายที่ด้านหน้า และเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับตามภาพถ่ายแล้ว เห็นว่ารถยนต์ได้รับความเสียหายที่บริเวณกันชนหน้าด้านซ้ายใกล้กับดวงไฟหน้าซ้าย โดยมีรอยบุบซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับท่อไอเสียของรถจักรยานยนต์ที่นายกฤษณ์ขับ ซึ่งก็ปรากฏรอยบุบยุบที่บริเวณใกล้ปลายท่อไอเสียด้วย เป็นการเจือสมกับคำเบิกความของนางสาวอนุศยา พยานโจทก์ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ท้ายสุดที่เบิกความว่า พยานถูกเฉี่ยวชนที่ขาขวา และเจือสมกับคำเบิกความของนายปิยะพงศ์ อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ้งพยานโจทก์ซึ่งเป็นพยานคนกลางที่ไปถึงที่เกิดเหตุหลังเกิดเหตุไม่นานที่ว่า เห็นรถจักรยานยนต์ได้รับความเสียหายที่ล้อหลังค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายรถจักรยานยนต์แล้วเห็นได้ว่ารถจักรยานยนต์ถูกชนทางด้านขวาค่อนไปด้านหลัง โดยโช้กอัพรถจักรยานยนต์ในภาพมีเพียงข้างเดียวเท่านั้น จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่นายกฤษณ์ขับที่บริเวณด้านท้ายข้างขวาใกล้ปลายท่อไอเสียจริง แต่โดยเหตุที่นายกฤษณ์เป็นฝ่ายขับรถจักรยานยนต์ย้อนเส้นทางเดินรถออกจากซอยแยกย่อยเพื่อลัดเข้าสู่ถนนซอยสุขุมวิท 26 อันเป็นการกระทำโดยประมาทด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ในการขับรถของทั้งสองฝ่ายว่า ฝ่ายใดประมาทยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว จะเห็นได้ว่าหากจำเลยที่ 1 ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ย่อมต้องมองเห็นรถจักรยานยนต์ที่นายกฤษณ์ขับมาและต้องชะลอความเร็วไม่ให้เกิดการเฉี่ยวชนกัน ขณะเดียวกันนายกฤษณ์ซึ่งขับรถจักรยานยนต์ย้อนเส้นทางเดินรถออกจากซอยก็จะต้องหยุดรถดูว่า มีรถแล่นมาทางด้านขวาหรือไม่ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงขับออกไป แต่ทั้งจำเลยที่ 1 และนายกฤษณ์หาได้กระทำไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และนายกฤษณ์ประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ