คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9836/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ทั้งห้าลงชื่อรับเงินสิทธิประโยชน์ที่มีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงานในหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างที่จำเลยทำขึ้นโดยไม่มีข้อความใดว่าโจทก์ทั้งห้าขอลาออกจากการเป็นลูกจ้าง ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งห้าลาออกด้วยความสมัครใจ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 จำเลยต้องรับโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงาน แต่เมื่อระหว่างเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ทำงานให้จำเลย จึงนำเอาระยะเวลาดังกล่าวรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้ คงนับอายุงานใหม่ต่อจากอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างเท่านั้น
โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่ชอบ เป็นการตั้งประเด็นโดยตรงว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงานตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 เมื่อการเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าจึงเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างที่ถูกเลิกจ้างได้

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย และบังคับให้จำเลยรับโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ อัตราค่าจ้าง สวัสดิการเดิม นับอายุงานต่อเนื่องจนกว่าจำเลยจะให้โจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงาน และให้จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งห้าตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2550 จนกว่าจำเลยจะรับโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงาน
จำเลยทั้งห้าสำนวนขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยและได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายตามฟ้องของโจทก์ทั้งห้า โจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการลูกจ้างของจำเลย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2550 โจทก์ทั้งห้าได้ลงชื่อในช่องผู้รับเงินในเอกสาร เมื่อพิจารณาเอกสารปรากฏว่า จำเลยได้ยกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ทั้งห้า จำเลยได้จ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี โดยมีบันทึกท้ายหนังสือดังกล่าวว่าได้แจ้งโจทก์ทั้งห้าแล้ว แม้มีเพียงโจทก์ที่ 5 ลงชื่อรับทราบ ส่วนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ประสงค์จะลงนามต่อหน้าพยาน แต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าได้ลงชื่อในช่องผู้รับเงิน แม้ในหนังสือจะระบุว่าเป็นหนังสือยกเลิกสัญญาจ้าง ย่อมฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยเสนอยกเลิกสัญญาจ้างโดยยินยอมจ่ายเงินตามที่เสนอและโจทก์ทั้งห้าตกลงรับเงินตามที่จำเลยเสนอ จึงพออนุโลมถือว่าทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยตกลงให้สัญญาจ้างสิ้นสุดโดยโจทก์ทั้งห้ายินยอมรับเงินตามที่จำเลยเสนอ กรณีจึงไม่ใช่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเลิกจ้าง โจทก์ทั้งห้าซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้าง ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่จำต้องขออนุญาตจากศาลแรงงาน
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าว่า การที่โจทก์ทั้งห้าลงชื่อรับเงินไปจากจำเลยตามเอกสาร เป็นการตกลงยินยอมให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งห้ากับจำเลยสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์ทั้งห้าเป็นกรรมการลูกจ้างของจำเลย ฉะนั้น จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน การที่จำเลยทำหนังสือยกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ทั้งห้าตามเอกสารโดยยินยอมให้สิทธิประโยชน์ซึ่งโจทก์ทั้งห้ามีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้างแรงงานและกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น เป็นการยกเลิกสัญญาจ้างเพียงฝ่ายเดียว และการที่โจทก์ทั้งห้าลงชื่อรับเงินสิทธิประโยชน์ในเอกสาร โดยไม่ปรากฏข้อความใด ๆ ว่าโจทก์ทั้งห้าขอลาออกจากการเป็นลูกจ้าง จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งห้ายินยอมลาออกด้วยความสมัครใจ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งห้าลงชื่อในช่องผู้รับเงินในเอกสาร พออนุโลมว่าทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยตกลงว่าให้สัญญาจ้างสิ้นสุดลงนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าฟังขึ้น จำเลยต้องรับโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงานต่อไป แต่เมื่อระหว่างเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าไม่ได้ทำงานให้จำเลย จึงนำเอาระยะเวลาดังกล่าวรวมเข้าเป็นอายุงานด้วยไม่ได้ คงนับอายุงานใหม่ต่อจากอายุงานเดิมที่คำนวณถึงวันก่อนวันเลิกจ้างเท่านั้น
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งห้าต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างนับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะรับโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงานหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเนื่องมาจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการตั้งประเด็นโดยตรงว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแรงงาน จึงเป็นการขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 เมื่อจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งห้าจึงเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างที่ถูกเลิกจ้างจากจำเลยได้ แต่การกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้เพียงใดเป็นดุลพินิจอันเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการในเรื่องดังกล่าว
พิพากษากลับ ให้จำเลยรับโจทก์ทั้งห้ากลับเข้าทำงานต่อไปในตำแหน่งหน้าที่ อัตราค่าจ้าง และสวัสดิการไม่ต่ำกว่าเดิม กับให้นับอายุงานใหม่ของโจทก์ทั้งห้าติดต่อกับอายุงานที่คำนวณถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันก่อนวันเลิกจ้าง และให้ศาลแรงงานกลางพิจารณากำหนดจำนวนค่าเสียหายในช่วงระยะเวลาเลิกจ้าง แล้วพิพากษาประเด็นนี้ใหม่ตามรูปคดี

Share