แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่พนักงานอัยการร้องต่อศาลให้ริบทรัพย์สินของบุคคลตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 นั้น มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดและอายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินโดยจะยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้…” บทบัญญัตินี้มีนัยว่า ทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ริบนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องบุคคลใดเป็นคดีอาญานั้น เท่านั้น เมื่อทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ เป็นทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ชั่วคราวเพื่อทำการตรวจสอบในคดีอาญาที่ผู้คัดค้านถูกกล่าวหาว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี การยึดจึงสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 และเมื่อทรัพย์สินถูกยึดไว้ชั่วคราวแล้วก่อนวันที่ 26 มกราคม 2547 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายในคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษผู้คัดค้าน แสดงว่าทรัพย์สินทั้ง 5 รายการมิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบตามมาตรา 27
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบเงินและทรัพย์สิน รายการที่ 1, 2, 3, 4 และ 6 ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 19, 20, 21, 22, 23, 27, 29 และ 31 รถบรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ปน 8999 กรุงเทพมหานคร รายการที่ 5 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งริบให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 30, 31 ในคดีหมายเลขดำที่ ม.56/2547 หมายเลขแดงที่ ม.122/2547 แล้ว
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งยกคำร้องและคืนทรัพย์ทั้ง 6 รายการ ให้แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ริบเงิน 210,000 บาท ซึ่งได้จากการขายทอดตลาดโค เงิน 35,000 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดกระบือ โทรทัศน์สี ยี่ห้อโซนี่ ขนาด 29 นิ้ว 1 เครื่อง เครื่องเสียง ยี่ห้อโซนี่ 1 เครื่อง พร้อมลำโพง 2 ตัว และเงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขากาฬสินธุ์ เลขที่ 130-2-41830-2 ชื่อบัญชีผู้คัดค้าน พร้อมดอกเบี้ยเงินฝากให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ริบโทรทัศน์สี ยี่ห้อโซนี่ ขนาด 29 นิ้ว 1 เครื่อง และเครื่องเสียง ยี่ห้อโซนี่ 1 เครื่อง พร้อมลำโพง 2 ตัว และให้คืนแก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันฟังยุติในชั้นนี้ว่า เดือนเมษายน 2546 เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีซึ่งได้รับข้อมูลมาว่า ผู้คัดค้านเป็นผู้ค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ จึงได้ขอหมายจับผู้คัดค้านไว้ ผู้คัดค้านเข้ามอบตัวโดยถูกกล่าวหาว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ต่อมาพนักงานอัยการขอให้ศาลออกหมายปล่อยเนื่องจากมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้คัดค้าน หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดได้ร่วมจับกุมผู้คัดค้านพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 20,000 เม็ด เป็นของกลาง แล้วผู้คัดค้านถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นฐานมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 2145/2547 ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านให้จำคุกตลอดชีวิตและริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง สำหรับในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องได้ร้องเป็นคดีนี้ ปรากฏต่อเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและกรณีมีเหตุอันสมควรสงสัยว่า ทรัพย์สินซึ่งเป็นของผู้คัดค้านเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยในระหว่างปี 2546 ถึง 2547 เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านไว้ชั่วคราว 3 คำสั่ง คำสั่งแรก คือ คำสั่งที่ 3720/2546 ให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้าน 5 รายการ ไว้ชั่วคราว ดังต่อไปนี้เงิน 40,870 บาท โทรทัศน์สี ยี่ห้อโซนี่ ขนาด 29 นิ้ว เครื่องเสียง ยี่ห้อโซนี่ 1 ชุด พร้อมลำโพง 2 ตัว โค 11 ตัว กระบือ 2 ตัว โดยคำสั่งฉบับนี้ลงวันที่ 6 ตุลาคม 2546 อันเป็นเวลาก่อนวันที่ 26 มกราคม 2547 ที่ผู้คัดค้าน กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 2145/2547 ของศาลชั้นต้นดังกล่าวแล้ว และอีก 2 คำสั่ง คือ คำสั่งที่ 455/2547 ให้ยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้าน 1 รายการ ไว้ชั่วคราวคือ รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ ทะเบียนป้ายแดง ง – 6768 กรุงเทพมหานคร กับคำสั่งที่ 1078/2547 ให้อายัดชั่วคราวบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขากาฬสินธุ์ เลขที่ 130-2-41830-2 ชื่อบัญชีผู้คัดค้าน โดยคำสั่ง 2 ฉบับนี้ลงวันที่อันเป็นเวลาหลังจากวันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 2145/2547 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ตรวจสอบทรัพย์สินตามคำสั่งทั้งสามฉบับที่ยึดและอายัดชั่วคราวดังกล่าวทั้งสอบเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นกับผู้คัดค้าน และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาคดีตรวจสอบทรัพย์สินของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ววินิจฉัยว่า ทรัพย์สินดังกล่าวข้างต้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยผู้คัดค้านไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่า เป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือรับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณตามคำวินิจฉัยคดีตรวจสอบทรัพย์สิน จึงมีคำสั่งที่ 868/2548 ให้ยึดทรัพย์สินผู้คัดค้าน คือ โทรทัศน์สี ยี่ห้อโซนี่ ขนาด 29 นิ้ว 1 เครื่อง เครื่องเสียง ยี่ห้อโซนี่ 1 ชุด พร้อมลำโพง 2 ตัว เงิน 210,000 บาท ซึ่งได้จากการขายทอดตลาดโค รวมทั้งเงิน 35,000 บาท ซึ่งได้จากการขายทอดตลาดกระบือ ที่เป็นทรัพย์สินในรายการตามคำสั่งที่ 3720/2546 และยึดรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ยี่ห้ออีซูซุ หมายเลขทะเบียน ปน 8999 กรุงเทพมหานคร (ทะเบียนป้ายแดงดังกล่าวซึ่งภายหลังถูกศาลสั่งริบไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ม. 122/2547 ของศาลชั้นต้น) กับอายัดเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขากาฬสินธุ์ เลขที่ 130-2-41830-2 ของผู้คัดค้าน ที่เป็นทรัพย์สินตามคำสั่งที่ 455/2547 และคำสั่งที่ 1078/2547 ตามลำดับ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านตามคำร้อง และเป็นการร้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ตามคำสั่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่ 3720/2546 เป็นคำสั่งที่มีมูลมาจากเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุพรรณบุรีสอบสวนพบว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่เมื่อพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องผู้คัดค้านโดยเด็ดขาด การยึดและอายัดดังกล่าวย่อมเป็นอันสิ้นสุดลง คำสั่งที่ 868/2548 ของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับทั้งผู้ร้องยื่นคำร้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ยึดและอายัดดังกล่าว ส่วนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลนั้นพนักงานอัยการได้ขอศาลในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ม. 122/2547 ของศาลชั้นต้นให้มีคำสั่งริบไปแล้วการที่ผู้ร้องได้ร้องให้มีคำสั่งในคดีนี้จึงเป็นการร้องซ้ำและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีซ้ำนั้น เห็นว่า ในคดีที่พนักงานอัยการร้องต่อศาลให้ริบทรัพย์สินของบุคคลตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 นั้น มาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ว่า “เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดและอายัด ตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินโดยจะยื่นคำร้องก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้…” บทบัญญัติข้างต้นมีนัยว่า ทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ริบดังกล่าวนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องบุคคลใดเป็นคดีอาญานั้น เท่านั้น ดังนี้เมื่อทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ ตามคำสั่งที่ 3720/2546 เป็นทรัพย์สินที่ถูกยึดไว้ชั่วคราวเพื่อทำการตรวจสอบในคดีอาญาที่ผู้คัดค้านถูกกล่าวหาว่าจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี การยึดดังกล่าวจึงสิ้นสุดลงตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 และเมื่อทรัพย์สินดังกล่าวถูกยึดไว้ชั่วคราวแล้วก่อนวันที่ 26 มกราคม 2547 อันเป็นวันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 2145/2547 ของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษผู้คัดค้าน จึงบ่งชี้แสดงว่าทรัพย์สินทั้ง 5 รายการเหล่านี้มิใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 2145/2547 ดังกล่าว ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งริบตามนัยมาตรา 27 ดังกล่าว ส่วนทรัพย์สินรถยนต์บรรทุก ยี่ห้ออีซูซุ ตามคำสั่งที่ 455/2547 ศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ม. 122/2547 มีคำสั่งให้ริบตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดไปแล้ว และผู้ร้องไม่ได้มีคำขอให้ริบเป็นคดีนี้ จึงไม่มีกรณีการร้องซ้ำ ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามข้อฎีกาของผู้คัดค้าน สำหรับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ถูกอายัดไว้ชั่วคราว ตามคำสั่งที่ 1078/2547 ได้แก่ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขากาฬสินธุ์ เลขที่ 130-2-41830-2 ชื่อบัญชีผู้คัดค้านนั้น แม้เป็นทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้ชั่วคราวหลังจากวันที่ผู้คัดค้านกระทำความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย. 2145/2547 และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาแล้วเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งผู้ร้องมีอำนาจร้องต่อศาลให้ริบตามมาตรา 27 ก็ตาม ผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์หักล้างข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง โดยจะต้องนำสืบให้ได้ความตามมาตรา 29 (1) (2) ว่าเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกอายัดดังกล่าวเป็นเงินของผู้คัดค้านไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้เงินดังกล่าวมาโดยสุจริต ผู้คัดค้านนำสืบว่ามีอาชีพขายโคกระบือและน้ำเชื้อที่ใช้ในการผสมเทียมโคกระบือ แต่ไม่ได้นำสืบแสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่า มีรายได้จากการขายโคกระบือและขายน้ำเชื้อโคกระบือเดือนละเท่าไรไม่ได้ให้รายละเอียดรายชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และสถานที่ติดต่อกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่มีหลักฐานทางบัญชีแสดงรายรับรายจ่าย แบบการยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลอันจะแสดงให้เห็นว่าการประกอบกิจการของผู้คัดค้านดังกล่าวมีรายได้เพียงใด ข้อนำสืบของผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้าง ข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ริบเงิน 210,000 บาท ซึ่งได้จากการขายทอดตลาดโค และเงิน 35,000 บาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดกระบือ ให้คืนแก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์