แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยระบุว่าการทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณบริษัทเป็นการกระทำผิดวินัยกรณีร้ายแรง แต่จะเป็นความผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบด้วย การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานในห้องพนักงานเวลา 5.30 นาฬิกา อันเป็นเวลาก่อนการทำงานตามปกติ เมื่อมีผู้เข้าห้ามปรามก็เลิกรากันไป ไม่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยไม่ได้ แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583
ย่อยาว
เดิมคดีนี้และคดีหมายเลขแดงที่ 1144/2550 ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษารวมกัน แต่คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 8,883 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และค่าชดเชยจำนวน 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์จำนวน 8,449.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 19,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าการที่โจทก์ชกต่อยนายอรรถพร ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานในบริเวณสำนักงานของจำเลย เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 5.30 นาฬิกา โจทก์กับนายอรรถพรพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุเพื่อนร่วมงานของโจทก์ได้โต้เถียงกันอยู่ประมาณ 5 นาที ในสถานที่ทำงานของจำเลย แล้วโจทก์ใช้กำลังชกต่อยนายอรรถพร 2 ครั้ง ครั้งแรกเฉียดแก้ม และครั้งที่สองถูกที่ท้ายทอย ไม่ปรากฏบาดแผล ต่อมาโจทก์ถูกพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางรัก ปรับ 1,000 บาท ในข้อหาใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งแม้ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยหมวดที่ 7 ข้อ 3.9 ระบุให้การทำร้ายหรือพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณบริษัท เป็นการกระทำผิดวินัยกรณีร้ายแรงก็ตาม แต่การจะเป็นความผิดวินัยกรณีร้ายแรงหรือไม่ ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นประกอบด้วย หาใช่ถือตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแต่อย่างเดียวไม่ การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานนั้นเหตุเกิดขึ้นในห้องพนักงานสำรวจอุบัติเหตุในเวลาประมาณ 5.30 นาฬิกา เป็นเวลาก่อนการทำงานตามปกติของพนักงานทั่วไป และเมื่อมีผู้เข้าห้ามปรามก็เลิกรากันไป จึงไม่เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของจำเลย การกระทำของโจทก์จึงเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นกรณีที่ไม่ร้ายแรง เมื่อจำเลยไม่เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อน จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหาได้ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงชอบแล้ว แต่การที่โจทก์ใช้กำลังทำร้ายเพื่อนร่วมงานอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์จึงไม่ถูกต้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง