แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ข้อเท็จจริงปรากฏในทางพิจารณาว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อโดยประมาทเฉี่ยวชนถูกไหล่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกจากรถ แล้วรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 เสียหลักล้มลง แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อโดยประมาทเฉี่ยวชนถูกโจทก์ร่วมที่ 1 แต่เมื่อผลคือโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส และโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390, 90, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78, 157, 160
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางณัฐฐาหรือสิรพัชร์ และนางเกศดาพร ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้เรียกผู้เสียหายทั้งสองว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยประมาทเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือและแสดงตัวพร้อมแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง โจทก์ร่วมที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์โดยมีโจทก์ร่วมที่ 1 นั่งซ้อนท้ายไปตามถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรี ซึ่งมี 4 ช่องเดินรถไปและกลับฝั่งละ 2 ช่องเดินรถ ไม่มีเกาะกลางถนน แต่มีถนนคู่ขนาน 2 ฝั่ง และระหว่างถนนคู่ขนานกับถนนหลักมีเกาะกลางถนน โดยขับอยู่ในช่องเดินรถที่ 1 ชิดเกาะกลางถนนคู่ขนาน ระหว่างนั้นมีผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไปตามถนนมิตรภาพมุ่งหน้าไปทางจังหวัดสระบุรี ตามหลังโจทก์ร่วมทั้งสองในช่องเดินรถเดียวกันและขับแซงเบียดขึ้นมาบริเวณที่เกิดเหตุด้วยความเร็ว โจทก์ร่วมที่ 2 ถูกรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวเฉี่ยวที่แขน ส่วนโจทก์ร่วมที่ 1 ตกจากรถและหมดสติในที่เกิดเหตุ รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 เสียหลักล้มลง โจทก์ร่วมที่ 1 มีเลือดออกที่สมองและสมองช้ำได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมที่ 2 มีบาดแผลถลอกบริเวณใบหน้า แขนและเข่าทั้งสองข้างได้รับอันตรายแก่กาย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อเฉี่ยวชนโจทก์ร่วมทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อเฉี่ยวชนรถโจทก์ร่วมที่ 2 และโจทก์ร่วมที่ 2 เห็นเหตุการณ์หลังจากถูกเฉี่ยวชนเพียงว่ารถที่เฉี่ยวชนเป็นรถยนต์บรรทุก โดยไม่ได้สังเกตหมายเลขทะเบียนรถ ส่วนโจทก์ร่วมที่ 1 หลังตกจากรถแล้วก็หมดสติไปไม่เห็นเหตุการณ์ แต่โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองยังมีนางสมจิตร เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ นางสมจิตรขับรถจักรยานยนต์อยู่ในช่องเดินรถที่ 1 ตามหลังโจทก์ร่วมทั้งสองห่างกัน 50 เมตร เห็นรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันหนึ่งแซงรถของนางสมจิตรออกไปทางขวา แล้วขับเบี่ยงมาช่องเดินรถด้านหน้านางสมจิตร แต่ด้วยความแรงของรถยนต์บรรทุกสิบล้อทำให้ตอนกลางของรถยนต์บรรทุกสิบล้อเฉี่ยวชนถูกไหล่ของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมที่ 1 ตกจากรถ แล้วรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 เสียหลักล้มลง นางสมจิตรขับรถจักรยานยนต์ตามรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวไปและเห็นแผ่นป้ายทะเบียนรถมีหมายเลข 80-9912 นครราชสีมา จึงโทรศัพท์แจ้งไปที่สถานีตำรวจภูธรปากช่องว่า จำหมายเลขทะเบียนรถของคนร้ายได้และบอกให้เจ้าพนักงานตำรวจทราบ ที่นางสมจิตรเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า รถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 เกาะติดไปกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อไม่นานแล้วหลุดออกนั้น เป็นปรากฏการณ์ที่แปลกแต่ถ้าไม่เห็นเช่นนั้นจริงคงจะเอามาเบิกความไม่ได้ และก็คงเป็นเพราะแรงดูดที่เกิดจากรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่แล่นมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เกิดแรงลมดูดรถจักรยานยนต์ให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางของรถยนต์บรรทุกสิบล้อเพียงชั่วขณะหนึ่งแล้วแยกจากกันโดยที่ไม่มีส่วนใดของรถทั้งสองคันกระแทกกันนับว่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ มิฉะนั้นแล้วสภาพของรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณแถบขวาของรถต้องได้รับความเสียหายมากกว่านี้ สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า รถจักรยานยนต์แล่นไปตามกระแสลมของรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ทำให้รถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลง ดังนั้น รถจักรยานยนต์จึงไม่ได้ล้มลงทันทีแต่ได้แล่นไปตามแรงลมของรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงที่มีลมอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เมื่อหมดแรงลมรถจักรยานยนต์จึงแยกหลุดจากรถยนต์บรรทุกสิบล้อและล้มลงดังที่โจทก์ร่วมที่ 2 เบิกความ ลักษณะเช่นนี้จึงทำให้นางสมจิตรดูเหมือนรถจักรยานยนต์เกาะติดไปกับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ประกอบกับนางสมจิตรอยู่ห่างจากโจทก์ร่วมที่ 2 ถึง 50 เมตร จึงอาจมองเห็นเช่นนั้นได้ คำเบิกความของนางสมจิตรจึงไม่เป็นพิรุธ ทั้งไม่ได้ขัดกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมที่ 2 และพันตำรวจตรีสถาพร ซึ่งเป็นผู้ตรวจพิสูจน์ร่องรอยการเฉี่ยวชนที่ว่ารถทั้งสองคันไม่มีร่องรอยการเฉี่ยวชนกัน แต่เหตุที่โจทก์ร่วมที่ 1 ตกจากรถจักรยานยนต์และรถจักรยานยนต์ล้มเกิดจากถูกรถยนต์บรรทุกของจำเลยเฉี่ยวไปด้วยความเร็ว ส่วนที่นางสมจิตรเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นางสมจิตรโทรศัพท์แจ้งดาบตำรวจธนาดอน พนักงานวิทยุประจำสถานีตำรวจภูธรปากช่องว่า จำหมายเลขทะเบียนรถได้แต่ไม่ได้แจ้งชื่อจังหวัดเพราะจำไม่ได้นั้น นางสมจิตรก็ได้เบิกความตอบโจทก์ถามติงแล้วว่า จำไม่ได้ว่าจะได้แจ้งชื่อจังหวัดด้วยหรือไม่เพราะเหตุเกิดนานแล้ว ประกอบกับคำเบิกความของดาบตำรวจธนาดอนสนับสนุนคำเบิกความของนางสมจิตรให้มีน้ำหนักรับฟังยิ่งขึ้น ทำให้เห็นว่านางสมจิตรได้เห็นเหตุการณ์และจำหมายเลขทะเบียนรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่เฉี่ยวชนโจทก์ร่วมทั้งสองได้ถูกต้องจริง และเป็นหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การจับกุมจำเลยได้ในที่สุด โดยโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีพันตำรวจโทสมชาย พนักงานสอบสวนเบิกความว่า หลังจากทราบหมายเลขทะเบียนรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่เฉี่ยวชนจากดาบตำรวจธนาดอนแล้ว ได้ตรวจสอบปรากฏว่าเป็นรถของร้านค้าในเขตตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา จึงประสานไปยังสถานีตำรวจภูธรหนองสาหร่าย ตรวจสอบก็พบว่าเป็นรถของร้านค้าจริง และเจ้าของร้านแจ้งว่าขณะนั้นจำเลยกำลังใช้รถคันดังกล่าวไปส่งของที่กรุงเทพมหานคร พันตำรวจโทสมชายจึงโทรศัพท์สอบถามจำเลย จำเลยให้การรับว่าวันเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุผ่านมาที่เกิดเหตุจริง พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองที่นำสืบมาสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะเจ้าพนักงานตำรวจและนางสมจิตรไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงมีความเป็นกลาง มีน้ำหนักรับฟังได้ ประกอบกับทางนำสืบของจำเลยก็รับอีกว่า วันเกิดเหตุจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุผ่านมาที่เกิดเหตุจริง ทั้งยังยอมรับว่าหลังเกิดเหตุบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุไว้จากนายจ้างของจำเลยได้ให้ตัวแทนมาเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ร่วมทั้งสองที่สถานีตำรวจภูธรปากช่อง โดยเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเงิน 50,000 บาท แต่โจทก์ร่วมทั้งสองต้องการให้จำเลยชดใช้เป็นเงิน 200,000 บาท จึงไม่สามารถตกลงกันได้ แสดงว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงยอมเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ทางนำสืบของจำเลยเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสอง เมื่อรับฟังประกอบกันแล้วมีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อเฉี่ยวโจทก์ร่วมทั้งสอง เป็นความผิดข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย แม้ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง เนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อเฉี่ยวชนโจทก์ร่วมที่ 1 แต่เมื่อผลคือโจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสและโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นการแตกต่างกันในข้อที่มิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การต่อสู้คดีทำนองอ้างฐานที่อยู่และมิได้หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยได้ตามฟ้องข้อหานี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องจำเลยข้อหานี้ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อหานี้ฟังขึ้น แต่พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองดังกล่าวมาข้างต้นหาได้พิสูจน์ว่าจำเลยรู้ตัวว่าตนเองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมทั้งสองหรือทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งสองโดยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อเฉี่ยวรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 ล้ม ณ ที่เกิดเหตุไม่ คดีจึงไม่อาจฟังว่า จำเลยมีความผิดข้อหาไม่หยุดรถและให้ความช่วยเหลือพร้อมแสดงตนแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ฎีกาของโจทก์ข้อหานี้ฟังไม่ขึ้น สรุปแล้วฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3