แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บังคับให้พนักงานอัยการฟ้องเรียกได้แค่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น สภาพไม่เปิดช่องให้เรียกดอกเบี้ยได้เพราะดอกเบี้ยไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด การที่พนักงานอัยการไม่ได้ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วยในคดีอาญานั้น จึงไม่ใช่ค่าเสียหายที่พนักงานอัยการสามารถฟ้องเรียกแทนผู้เสียหายได้แล้วแต่ไม่เรียก ฟ้องของโจทก์คดีแพ่งในส่วนของดอกเบี้ยจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์มีหน้าที่รับฝากเงินและจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของโจทก์ ภายใต้การควบคุมดูแลของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลักเงินของโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 44,173,253.84 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันใช้เงิน 44,173,253.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจหน้าที่รับฝากเงินและจ่ายเงินให้แก่สมาชิกของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นสมาชิกของโจทก์ จึงไม่มีสิทธิเปิดบัญชีเงินฝากกับโจทก์ และไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจการบริหารของโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 4 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องให้หมายเรียกนางฉวีวรรณ ชำนาญพงศ์ นายวัชรินทร์ ภิรมย์ไกรภักดิ์ นายสุรพงษ์ ฟ้ารักษา และนางอรวรรณ สามารถ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมที่ 1 ให้การว่า จำเลยร่วมที่ 1 ไม่มีส่วนรู้เห็นกับการกระทำผิดในคดีนี้จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยร่วมที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยร่วมที่ 4 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่อยู่ในความรับผิดชอบควบคุมดูแลของจำเลยร่วมที่ 4 และจำเลยร่วมที่ 4 ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
วันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคำร้องว่า มูลเหตุและประเด็นแห่งคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงิน 44,173,253.84 บาท แล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1344/2546 ของศาลชั้นต้น ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1344/2546 ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนทรัพย์สินให้แก่โจทก์โดยไม่ได้พิพากษาในส่วนของค่าเสียหายที่เป็นดอกเบี้ย ฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในคดีอาญา พนักงานอัยการฟ้องและมีคำขอส่วนแพ่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายตามปราะมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ถือว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายด้วย เมื่อคดีอาญาอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ผู้เสียหายจะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีแพ่งให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายอีกโดยอ้างเหตุการณ์กระทำผิดในคดีอาญาจึงเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันอีก อันเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) แม้ในคดีอาญาพนักงานอัยการจะไม่ได้มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยด้วยก็ตาม จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกเสียจากสารบบความ และให้พิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ที่ 5 (ที่ถูก เฉพาะจำเลยที่ 4) และจำเลยร่วมที่ 1 ถึงที่ 4 ต่อไป
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีอาญา ฐานลักทรัพย์จำนวนเดียวกับที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ และมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนหรือใช้เงินที่ลักไป โดยไม่ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนหรือใช้เงินที่ลักไป คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1344/2546 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นคดีอาญาฐานลักทรัพย์จำนวนเดียวกับคดีนี้ และมีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนเงินที่ลักไป อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจะมิได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาก็ตาม การที่พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิมีคำขอดังกล่าวก็เป็นการขอแทนโจทก์คดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 เมื่อศาลในคดีอาญาได้รับคำขอส่วนแพ่งของพนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิไว้พิจารณาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1344/2546 ของศาลชั้นต้น ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คดีนี้โดยอาศัยมูลละเมิดอันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากมูลความผิดอาญาฐานลักเงินดังกล่าวซึ่งเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเดียวกับที่พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิขอให้บังคับในส่วนแพ่งแทนโจทก์แล้วย่อมมีผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือศาลอื่นอีก ฟ้องโจทก์คดีนี่เรียกต้นเงินที่ถูกลักไปคืนจากจำเลยที่ 1ถึงที่ 3 จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1344/2546 ของศาลชั้นต้น ส่วนของดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดนับจากวันฟ้องนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 บังคับให้พนักงานอัยการฟ้องเรียกได้แค่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น สภาพไม่เปิดช่องให้เรียกดอกเบี้ยได้เพราะดอกเบี้ยไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญหายไปเนื่องจากการกระทำผิด การที่พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิไม่ได้ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วยในคดีแรกนั้น จึงไม่ใช่ค่าเสียหายที่พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิสามารถฟ้องเรียกแทนผู้เสียหายได้แล้วแต่ไม่เรียกฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนของดอกเบี้ยจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1344/2546 ของศาลชั้นต้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ส่วนที่ว่าฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ส่วนดอกเบี้ยเป็นฟ้องซ้อนกันคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1344/2546 ของศาลชั้นต้นนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ย ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3