แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2525 และจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนในวันที่ 30 ธันวาคม 2525 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 ดังนั้นแม้อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ตามข้ออ้างของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีก่อนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ถึงวันฟ้องคดีก่อน ไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องกรณีนี้มีอายุความสิบปี ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนก็ยังไม่ขาดอายุความและอายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอันถือได้ว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง อายุความจึงครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีก่อน แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 ให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องคดีใหม่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540 นับตั้งแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีใหม่เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดี เพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด” ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง สาระสำคัญว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความ ดังนั้นการที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยและโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ตามสัญญาอัตราร้อยละ 18 ต่อปี คดีนี้จึงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ได้ไม่เป็นโมฆะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โจทก์โดยนายพชร อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธานกรรมการมอบอำนาจให้นายกฤษณ์ สถานนท์ เป็นผู้ฟ้องคดีนี้แทน รวมทั้งมอบอำนาจช่วงได้ นายกฤษณ์มอบอำนาจช่วงให้นายบุญเหลือ พูนทรัพย์ เป็นผู้ดำเนินคดีอีกทอดหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2520 จำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาบ้านนาสาร ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท โดยถือบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวเป็นบัญชีแห่งหนี้ ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี กำหนดชำระเป็นรายเดือนทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้โจทก์ทบดอกเบี้ยเข้ากับเงินต้นไป หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองเดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์ตลอดมา ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดสัญญา จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 โจทก์หักทอนบัญชีเดินสะพัด ปรากฏว่าในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์จำนวน 1,053,510.18 บาท โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ จำเลยทั้งสองจึงต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปี คิดเป็นดอกเบี้ย 921,821.40 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 1,975,331.58 บาท โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลหนี้ดังกล่าวมาแล้ว ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องเนื่องจากการคิดดอกเบี้ยของโจทก์ไม่ชอบ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่โจทก์จึงมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,975,331.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,053,510.18 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายพชร อิศรเสนา ณ อยุธยา ไม่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ เนื่องจากผู้กระทำการแทนโจทก์ได้คือกรรมการ 2 คน ลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของโจทก์ การมอบอำนาจและมอบอำนาจช่วงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยทั้งสองร่วมกันเปิดบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์จริงแต่มีเงื่อนไขว่า หากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ห้ามโจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้ใด จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 200,000 บาท จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่เกินวงเงินหากรับผิดในส่วนที่เกินวงเงินโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แบบไม่ทบต้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่เคยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และคิดดอกเบี้ยทบต้น จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขณะโจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญากัน โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกำหนดเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ข้อกำหนดเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยเคลือบคลุม คดีโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์บอกเลิกสัญญาเกินกว่าสิบปีแล้ว อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้โดยการโอนหนังสือสำคัญมูลภัณฑ์กันชนให้แก่โทก์จนครบถ้วนแล้ว โจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกันอีก ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,975,331.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี นับแต่วันฟัอง (ฟ้องวันที่ 3 มกราคม 2540) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,975,331.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของเงินต้น 1,053,510.18 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2520 จำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเดินสะพัดประเภทบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเลขที่ 621 กับโจทก์ สาขาบ้านนาสาร ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2521 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์ในวงเงิน 200,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี กำหนดชำระทุกวันสิ้นเดือน ถ้าผิดนัดให้ทบดอกเบี้ยเข้าเป็นเงินต้น โดยจำเลยที่ 1 ได้มอบหนังสือสำคัญมูลภัณฑ์กันชนให้โจทก์เป็นประกัน หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองได้สั่งจ่ายเช็คเบิกเงินไปจากโจทก์
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวงเงิน 200,000 บาท โดยถือบัญชีเดินสะพัดกระแสรายวันที่จำเลยทั้งสองเปิดไว้กับโจทก์เป็นบัญชีแห่งหนี้ ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และยอมให้คิดดอกเบี้ยทบต้น ได้มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่ 30 พฤศจิกายน 2526 จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ 1,053,510.18 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินต้นดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องย้อนหลังเป็นเวลา 5 ปี เป็นดอกเบี้ยจำนวน 921,821.40 บาท และมีเอกสารแนบมาท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยแต่ละช่วงเป็นจำนวนเงินเท่าใดคิดดอกเบี้ยแต่ละช่วงเท่าใดนั้น เป็นรายละเอียดในชั้นพิจารณาที่โจทก์ต้องนำสืบ และที่จำเลยให้การว่าเอกสารท้ายคำฟ้องเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ก็เป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา การที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือไม่ จำเลยย่อมทราบดี จำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม…
ปัญหาต่อมาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองนำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2526 (ที่ถูกวันที่ 31 พฤษภาคม 2526) นับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีแรกวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 จึงยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2525 เพราะไม่มีการเบิกเงินหลังวันดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีวันที่ 30 กันยายน 2525 และในวันที่ 30 ธันวาคม 2525 และหากมีรายการอื่นอีกก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าเพื่อชำระหนี้ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชี สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเลิกกันตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2525 เรื่องอายุความจำเลยทั้งสองได้ต่อสู้มาตั้งแต่คดีก่อน และในคดีก่อนศาลฎีกาไม่ได้มีคำวินิจฉัยแต่อย่างใด เห็นว่า หากข้อเท็จจริงเป็นดังจำเลยทั้งสองฎีกาว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันในวันดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนในวันที่ 30 ธันวาคม 2525 (ที่ถูกจำเลยที่ชะระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 31 พฤษภาคม 2526 ตามเอกสารหมาย จ.14 ในคดีหมายเลขดำที่ 400/2535 ของศาลชั้นต้น) อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในวันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 ดังนั้นแม้อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ตามข้ออ้างของจำเลยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีก่อนในวันที่ 19 พฤษภาคม 2535 นับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2525 ถึงวันฟ้องคดีก่อน ไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องกรณีนี้มีอายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์ในคดีก่อนก็ยังไม่ขาดอายุความ และอายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งนับแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (2) เมื่อคดีก่อนศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอันถือได้ว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง อายุความจึงครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดีก่อน แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาในคดีก่อนเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 ให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องคดีใหม่เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2540 นับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีใหม่เป็นเวลาไม่เกิน 60 วัน ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลหรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด” ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อมาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า หนี้ระงับไปโดยจำเลยทั้งสองโอนเงินตามหนังสือสำคัญมูลภัณฑ์กันชนตีใช้หนี้ให้โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด และดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะหรือไม่ ในปัญหาข้อนี้ในคดีก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 3 (ขณะฟ้องคดีครั้งแรก) ได้วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้รับเงินตามหนังสือสำคัญมูลภัณฑ์กันชน และไม่ได้รับชำระหนี้ครบถ้วน หนี้จึงไม่ระงับ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 18 ต่อปี ตามที่จำเลยที่ 1 ตกลงยินยอม แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม 2524 ถึงเดือนเมษายน 2526 และช่วงเดือนมกราคม 2528 ถึงเดือนมิถุนายน 2528 โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 19 เกินอัตราที่จำเลยที่ 1 ยินยอม โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2526 ถึงเดือนเมษายน 2526 อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์คิดสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย การคิดดอกเบี้ยของโจทก์จึงไม่ชอบ เห็นสมควรให้โจทก์คิดเสียใหม่ให้ถูกต้อง และพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง มีสาระสำคัญว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความ ดังนั้นการที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนย่อมผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อนพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยและโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ตามสัญญาอัตราร้อยละ 18 ต่อปี คดีนี้จึงต้องฟังว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโจทก์จึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ไม่ได้เป็นโมฆะ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองไม่เป็นสาระแก่การวินิจฉัย
อนึ่ง ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ขอให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรร์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องนั้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับแก้เสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้ดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8