แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ป.วิ.อ. มาตรา 108 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติให้พิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบด้วย (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (2) พยานหลักฐานที่นำมาสืบแล้วมีเพียงใด (3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่ (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับฟังประกอบการวินิจฉัยได้ ดังนั้น การที่จำเลยสั่งในคำร้องลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ที่ ต. ซึ่งเป็นผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ในระหว่างสอบสวนว่า โจทก์มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ผู้ขอประกันไม่ใช่ญาติของโจทก์ ประกอบกับพนักงานสอบสวนกำลังขยายผลรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและฉ้อโกงประชาชน และคัดค้านการประกัน จึงไม่อนุญาตให้ประกัน ยกคำร้อง จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงจากคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนมาพิจารณาประกอบความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ววินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 108 อันเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนหาใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใดไม่ และถึงแม้ว่าหลักทรัพย์ที่ใช้ขอปล่อยชั่วคราวมีจำนวนสูงถึง 542,640 บาท ก็ตาม แต่การพิจารณาหลักทรัพย์ที่ผู้ขอประกันเสมอมา เป็นเพียงเหตุหนึ่งในหลายเหตุที่ศาลจะนำมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราว มิใช่ว่าหลักทรัพย์มีจำนวนสูงแล้ว ศาลต้องอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเสมอไป
ป.วิ.อ. มาตรา 87 วรรคสี่ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติว่า ถ้าเกิดความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่ากำหนดเวลาในวรรคก่อน เพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นให้ส่งผู้ต้องหามาศาล ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้…ฯลฯ… และมาตรา 87 วรรคหก บัญญัติว่า ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน ซึ่งเป็นการให้อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนวันมีเหตุอันสมควรอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ และผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยได้ไต่สวนแล้ว เห็นว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังโจทก์ไว้ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งอนุญาตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนดังกล่าวระบุว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีมาตราใดใน ป.วิ.อ. ที่บังคับว่า ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแล้ว ศาลต้องไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาไว้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยอนุญาตให้ฝากขังโจทก์จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวของผู้พิพากษาในศาล
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดสุโขทัย ก่อนไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้โอนคดีไปศาลอาญา ประธานศาลฎีกาอนุญาตตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 26
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์มีมูลอันควรรับไว้พิจารณาหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติให้พิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบด้วย (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (2) พยานหลักฐานที่นำสืบมาแล้วมีเพียงใด (3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่ (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับฟังประกอบการวินิจฉัยได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความจากคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุโขทัย ผู้ร้อง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 ว่า ผู้ร้องขอฝากขังผู้ต้องหา (โจทก์คดีนี้) และคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากโจทก์มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง และมีพฤติการณ์จะหลบหนีเพื่อไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กับขอรับตัวโจทก์ไปควบคุมที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุโขทัยเพื่อสืบสวนขยายผลหาตัวผู้กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องต่อไป ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยมีคำสั่งเรียกไต่สวน ในการไต่สวนดังกล่าวผู้ร้องให้ถ้อยคำว่าเหตุที่ต้องขอฝากขังโจทก์ต่อไปอีก เพราะโจทก์ต้องหาว่ากระทำผิดที่มีอัตราโทษจำคุกสูงกว่าห้าปี และโจทก์มีถิ่นที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง หากปล่อยตัวไปอาจหลบหนีหรือไม่มาตามนัดของพนักงานสอบสวนกับขอควบคุมตัวโจทก์ไว้ที่สถานีตำรวจเพราะต้องสืบสวนพยายผลหาตัวผู้ร่วมกระทำผิดและผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยพิจารณาแล้วอนุญาต ต่อมาวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุโขทัยยื่นคำร้องขอส่งตัวโจทก์คืนต่อศาลจังหวัดสุโขทัยและขอคัดค้านการประกันตัวโจทก์เนื่องจากอยู่ระหว่างพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีโจทก์ในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและฉ้อโกงประชาชน ดังนั้น การที่จำเลยสั่งในคำร้องลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ที่นางติ๋ม เจริญสุข ซึ่งเป็นผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยโจทก์ชั่วคราวในระหว่างสอบสวนว่า โจทก์มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ผู้ขอประกันไม่ใช่ญาติโจทก์ ประกอบกับพนักงานสอบสวนกำลังขยายผลรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและฉ้อโกงประชาชนและคัดค้านการประกัน จึงไม่อนุญาตให้ประกัน ยกคำร้อง จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงจากคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนมาพิจารณาประกอบความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ววินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 อันเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใดไม่ ที่โจทก์อ้างว่าหลักทรัพย์ที่ใช้ขอปล่อยชั่วคราวมีจำนวนสูงถึง 542,640 บาท แต่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่นำมาพิจารณานั้น เห็นว่า การพิจารณาหลักทรัพย์ที่ผู้ขอประกันเสนอมาเป็นเพียงเหตุหนึ่งในหลายเหตุที่ศาลจะนำมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราว มิใช่ว่าหลักทรัพย์มีจำนวนสูงแล้ว ศาลต้องอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเสมอไป ส่วนที่โจทก์อ้างต่อไปว่าตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุโขทัย ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 ระบุว่าโจทก์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา แต่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยอนุญาตให้ฝากขัง ทั้งที่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืน ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี เมื่อให้การรับสารภาพศาลสามารถพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยได้ทันทีโดยไม่ต้องสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 จึงไม่มีเหตุที่จะต้องฝากขังโจทก์ไว้อีกต่อไป การอนุญาตให้ฝากขังจึงไม่ชอบ จำเลยในฐานะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องของผู้พิพากษาในศาล การที่จำเลยไม่ตรวจสอบดังกล่าวจึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เห็นว่า ในชั้นสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสี่ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติว่า ถ้าเกิดความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่ากำหนดเวลาในวรรคก่อน เพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นให้ส่งผู้ต้องหามาศาล ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้…ฯลฯ… ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสุโขทัยยื่นคำร้องขอฝากขังโจทก์ครั้งที่ 1 โดยอ้างเหตุว่าการสอบสวนยังไม่เสร็จต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือโจทก์และสอบปากคำพยานอีก 4 ปาก ขอฝากขังโจทก์อีก 12 วัน นับแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 จึงเป็นการปฏิบัติตามบทกฎหมายดังกล่าว ทั้งตามมาตรา 87 วรรคหก บัญญัติว่า ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปีหรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวันซึ่งเป็นการให้อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนว่ามีเหตุสมควรอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ และผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยได้ไต่สวนแล้วเห็นว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังโจทก์ไว้ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งอนุญาตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนดังกล่าวระบุว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาตามที่โจทก์อ้างก็ตามแต่ก็ไม่มีมาตราใดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บังคับว่า ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแล้ว ศาลต้องไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาไว้ดังที่โจทก์เข้าใจ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยอนุญาตให้ฝากขังโจทก์จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว ทั้งจำเลยในฐานะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสุโขทัยไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องของผู้พิพากษาในศาลแต่อย่างใด คดีโจทก์ไม่มีมูลพอรับฟังได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน