แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ขณะ นางสาว จ. เบิกความตอบอัยการโจทก์จะไม่มีนักจิตวิทยา แต่เมื่อนางสาว จ. เบิกความจบคำซักถามของอัยการโจทก์ นักจิตวิทยาได้เข้าร่วมพิจารณาและที่ปรึกษากฎหมายจำเลยและอัยการโจทก์ได้ถามค้านและถามติงพยานปากนี้ผ่านนักจิตวิทยาดังกล่าวโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดคัดค้าน คำเบิกความของนางสาว จ. จึงไม่เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคหนึ่ง (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 290
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 86 ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวในฟ้อง นายสมศักดิ์หรือกร ประจบจิตรหรือประจบจิตร์ และนายมานะหรือเกิง จงอ่อนกลาง กับพวกร่วมกันทำร้ายนายธวัชชัย โพธิ์ศรี จนเป็นเหตุให้นายธวัชชัยถึงแก่ความตาย ตามสำเนารายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.2 คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาหรือไม่ โจทก์มีนางสาวจันจิรา สายแสง กับนางสาวกนกพร ปลื้มกลางเป็นพยาน แต่พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้ เบิกความแตกต่างกับที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน กล่าวคือ พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเบิกความในชั้นพิจารณาสอดคล้องกับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนในเหตุการณ์ตอนแรกว่า ขณะที่พยานทั้งสองกำลังพูดคุยกับเพื่อนที่บริเวณหน้าร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ผู้ตายเข้ามาพูดทักทายนางสาวจันจิรา นายสมศักดิ์เข้าทำร้ายผู้ตายกับนายสุชาติ ประดับศรี ซึ่งมากับผู้ตาย ผู้ตายกับนายสุชาติจึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนี แต่นายสมศักดิ์กับนายมานะขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้ตายทันกันที่หน้าร้านชาติคาราโอเกะ พยานทั้งสองเห็นผู้ตายนอนอยู่บนพื้น นายสมศักดิ์กับพวกยืนรุมล้อมผู้ตายแล้วพวกของนายสมศักดิ์อุ้มผู้ตายขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนายวัฒนาหรือวัฒ พิมพ์กิจ มีจำเลยนั่งประกบด้านหลังผู้ตาย แล้วขับพาผู้ตายไปทิ้งไว้ที่บริเวณสวนหย่อมใกล้สถานีรถไฟ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สวนหย่อม นางสาวจันจิราเบิกความว่า จำเลยและนายแก้วกับพวกอีก 7 ถึง 8 คน ยืนพูดคุยกัน ส่วนผู้ตายนอนอยู่ที่พื้นหญ้า พยานกับนางสาวกนกพรขอเงินนายมานะไปเติมน้ำมันและไม่ทราบเหตุการณ์ต่อมา ส่วนนางสาวกนกพรเบิกความเหตุการณ์ตอนนี้ว่าพยานเห็นนายสมศักดิ์ นายมานะ นายแก้วไม่ทราบชื่อสกุลจริงกับพวกประมาณ 5 ถึง 6 คน แต่ไม่เห็นจำเลยกำลังมุงดูผู้ตายซึ่งนอนอยู่บนพื้น เมื่อพยานกับนางสาวจันจิราได้เงินค่าน้ำมันจากนายมานะแล้วก็ไม่ทราบเหตุการณ์ต่อมา แต่พยานทั้งสองกลับให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า เห็นจำเลยเข้ามาช่วยเตะผู้ตายหลายครั้งที่บริเวณหน้าร้านชาติคาราโอเกะ เมื่อพาผู้ตายมาที่สวนหย่อมแล้วจำเลยกับพวกยังรุมกระทืบผู้ตายอีก แล้วจึงแยกย้ายกันกลับ นางสาวจันจิรายังให้การต่อพนักงานสอบสวนอีกว่า ได้ยินเสียงพวกนายมานะพูดว่าเอาไปสวนหย่อมสถานีรถไฟกระทืบต่อตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 เห็นว่า นางสาวกนกพรและนางสาวจันจิราให้การต่อพนักงานสอบสวนด้วยความสมัครใจต่อหน้าพนักงานอัยการ นักจิตวิทยาและมารดาของนางสาวกนกพร โดยพยานทั้งสองให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 และวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 ตามลำดับ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังเกิดเหตุไม่นาน จึงยังจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ซึ่งพวกที่รุมทำร้ายผู้ตายมีประมาณ 10 คน แต่นางสาวกนกพรและนางสาวจันจิราคงระบุชื่อเฉพาะที่รู้จักเท่านั้น และให้รายละเอียดว่าใครทำร้ายผู้ตายอย่างไร บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง นางสาวกนกพรและนางสาวจันจิราเป็นเพื่อนผู้ตายและจำเลยกับพวก ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่จะให้การต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ร้ายแก่จำเลยทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นรายละเอียดที่ผู้ที่เห็นเหตุการณ์เท่านั้นที่จะให้การได้ และพยานทั้งสองยังได้ลงลายมือชื่อรับรองในแผนกที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ.6 ตามแผนที่สังเขปฯ ดังกล่าว มีรายละเอียดสอดคล้องกับที่นางสาวกนกพรและนางสาวจันจิราให้การไว้ จึงเชื่อว่านางสาวกนกพรและนางสาวจันจิราให้การต่อพนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริงที่ได้รู้ได้เห็นอันรับฟังเป็นความจริงยิ่งกว่าที่นางสาวกนกพรและนางสาวจันจิราเบิกความต่อศาล แม้ขณะนางสาวจันจิราเบิกความตอบอัยการโจทก์จะไม่มีนักจิตวิทยา แต่เมื่อนางสาวจันจิราเบิกความจบคำซักถามของอัยการโจทก์ นักจิตวิทยาได้เข้าร่วมพิจารณาและที่ปรึกษากฎหมายจำเลยและอัยการโจทก์ได้ถามค้านและถามติงพยานปากนี้ผ่านนักจิตวิทยาดังกล่าวโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดคัดค้าน คำเบิกความของนางสาวจันจิราจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี วรรคหนึ่ง (2) ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัย เมื่อนางสาวกนกพรและนางสาวจันจิราให้การต่อพนักงานสอบสวนยืนยันว่า จำเลยร่วมทำร้ายผู้ตายด้วย และจำเลยนำสืบรับว่าอยู่ในที่เกิดเหตุและนั่งประกบด้านหลังผู้ตาย พาผู้ตายไปทิ้งที่สวนหย่อมโดยไม่ได้ทำร้ายผู้ตาย โดยมีนายสมศักดิ์ นายมานะเป็นพยานเบิกความสนับสนุน แต่ทั้งนานสมศักดิ์และนายมานะเป็นเพื่อนจำเลยน่าเชื่อว่า ได้เบิกความเพื่อช่วยจำเลยให้พ้นผิด โดยเฉพาะนายมานะให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า เห็นนายสมศักดิ์กับพวกรุมกระทืบผู้ตาย ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.12 นายสมศักดิ์ตอบอัยการโจทก์ถามค้านว่า เมื่อนายมานะเรียกจำเลยกับพวกมาที่จุดผู้ตายนอนอยู่ นายมานะพูดว่าจะเอาไปกระทืบต่อที่สวนหย่อมจึงสอดคล้องกับที่นางสาวจันจิราให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ได้ยินนายมานะพูดว่าจะพาผู้ตายไปทำร้ายต่อที่สวนหย่อม ดังนั้น การที่จำเลยนั่งประกบด้านหลังผู้ตายไปด้วยเชื่อว่าจำเลยรู้ว่าจะพาผู้ตายไปทำร้ายต่อที่สวนหย่อมรถไฟ และตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.6 จำเลยและนายมานะได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานและผู้ต้องหาตามลำดับ โดยจำเลยและนายมานะไม่คัดค้านแผนที่สังเขปฯ ดังกล่าว ซึ่งแสดงจุดที่จำเลยกับพวกรุมทำร้ายผู้ตายที่สวนหย่อม ที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยกับพวกนำผู้ตายไปทิ้งที่สวนหย่อม ไม่มีใครทำร้ายผู้ตายอีกจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกนั้น เมื่อจำเลยฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดมาด้วยในส่วนของดุลพินิจในการลงโทษจำเลยซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวพันกัน ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวย่อมมีอำนาจพิจารณาไปด้วยว่าโทษที่ลงแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงใด โดยไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษของจำเลย เห็นว่า แม้จำเลยจะไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่การกระทำของจำเลยกับพวกในคดีนี้มีลักษณะเป็นการร้ายแรงไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย ทั้งจากรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนของจำเลยยังปรากฏว่า จำเลยชอบเที่ยวเตร่เวลากลางคืน คบเพื่อนที่มีความประพฤติไม่เหมาะสมและชอบมั่วสุมตามสถานบับเทิงต่างๆ กรณีจึงไม่มีเหตุให้ลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมมีกำหนด 1 ปี 4 เดือน นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน