คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เด็กที่ถูกควบคุมระหว่างพิจารณาคดีตามหมายของศาลซึ่งให้สถานพินิจควบคุมไว้นั้น มาตรา 16 (4) แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็ก พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2506 มาตรา 6 ให้อำนาจสถานพินิจฯ ส่งตัวไปกักไว้ที่เรือนจำได้ โดยถือว่าอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ เมื่อเด็กถูกพิพากษาลงโทษศาลจะคิดหักวันที่ถูกกักอยู่ในเรือนจำให้ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กฯ พ.ศ. 2494 ก็ได้
การที่สถานพินิจส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปกักไว้ที่เรือนจำในระหว่างพิจารณาคดีนั้น ไม่ใช่เป็นการกักและอบรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ. 2494 มาตรา 31(1) ซึ่งให้กักและอบรมในสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำ
การที่ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปยังสถานฝึกและอบรมตามมาตรา 31(2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ. 2494 ซึ่งแก้ไขโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2506 มาตรา 9 ก็อยู่ในความหมายว่าได้พิพากษาลงโทษตามนัยมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กฯ พ.ศ. 2494 ซึ่งต้องตีความคำว่า “ลงโทษ” อย่างกว้าง ให้รวมถึงการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่เด็กและเยาวชนซึ่งกระทำความผิดด้วย เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 เด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ไม่ต้องรับโทษอาญา ถ้าไม่ถือว่าการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นการลงโทษ ก็จะหักวันถูกควบคุมระหว่างพิจารณาคดีให้แก่เด็กดังกล่าวไม่ได้
เมื่อศาลคดีเด็กฯ พิพากษาเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งสถานฝึกและอบรมอันเป็นการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 31 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ แล้ว จะอุทธรณ์ขอให้เปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลคดีเด็กฯ ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 27 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีก ๕ คน ซึ่งแยกไปฟ้องที่ศาลทหารกรุงเทพ (ศาลอาญา) ได้ร่วมกระทำผิด คือทำการฉุดคร่าพานางสาวเตือนใจไปเพื่อการอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราโดยผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง นางสาวเตือนใจขัดขวาง จำเลยกับพวกใช้กรรไกรและมีดแทงนางสาวเตือนใจจนถึงแก่ความตาย และได้ปล้นเอาทรัพย์ของนางสาวเตือนใจไป
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดดังโจทก์ฟ้อง ให้ลงโทษกระทงหนังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ วางโทษประหารชีวิต ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยทั้งสองกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕, ๗๖ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ (๒) จำคุกคนละ ๑๖ ปี ลดรับสารภาพ คงจำคุก ๘ ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปยังสถานฝึกและอบรมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนดคนละ ๔ ปี ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓๑ จำเลยถูกควบคุมมา ๔ ปีเศษแล้ว พอแก่เวลาที่ศาลกำหนดเพื่อความปลอดภัยแล้ว ไม่ปล่อยตัวจำเลยทั้งสองไป
โจทก์อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายและดุลพินิจของศาลเฉพาะจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ คดีถึงที่สุด
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลคดีเด็กฯ ใช้ดุลพินิจหักวันที่จำเลยถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีจากระยะเวลาที่ให้ส่งตัวไปยังสถานฝึกและอบรมภายหลังเปลี่ยนจากโทษจำคุกมาแล้วได้ แต่เห็นว่าศาลคดีเด็กฯ ลงโทษเบาไป พิพากษาแก้ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ เป็นส่งตัวไปยังสถานฝึกและอบรมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลางมีกำหนดไม่เกินกว่าเวลาที่จำเลยที่ ๑ มีอายุครบ ๒๔ ปี แล้ว ให้ส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปจำคุกไว้ในเรือนจำจนกว่าจะครบกำหนด ๘ ปี นับแต่วันถูกควบคุม
จำเลยที่ ๑ ฎีกาคัดค้านว่า การที่สถานพินิจส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปกักไว้ที่เรือนจำในระหว่างพิจารณาคดี ก็ต้องถือว่าถูกควบคุมโดยสถานพินิจฯ และได้รับการฝึกและอบรมโดยตลอดมาแล้ว โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยยังมิได้รับการฝึกและอบรมในสถานพินิจนั้นไม่ชอบ
ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งแก้ไขโดย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๖ บัญญัติว่า ในระหว่างที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจฯลฯ ให้ผู้อำนวยการสถานพินิจฯลฯ มีอำนาจดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(๔) ส่งเด็กหรือเยาวชนที่มีความประพฤติเหลือขออันจะเป็นภัยต่อเด็กหรือเยาวชนอื่นไปกักไว้ในสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะหรือเรือนจำ
มาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กฯ พ.ศ. ๒๔๙๔ บัญญัติว่า การที่เด็กหรือเยาวชน อยู่ในความควบคุมของสถานพินิจหรือสำนักงานของคณะกรรมการพินิจและคุ้มครองเด็กในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดี ก็ดี ในระหว่างตรวจร่างกายและจิตใจหรือรับการรักษาพยาบาลก็ดี ไม่ให้ถือว่าเป็นการควบคุมตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าเด็กหรือเยาวชนนั้นถูกพิพากษาลงโทษ ศาลจะคิดหักวันที่ต้องถูกควบคุมตัวในสถานพินิจหรือสำนักงานของคณะกรรมการพินิจและคุ้มครองเด็กให้ก็ได้”
เห็นได้ว่า เด็กที่ถูกควบคุมระหว่างพิจารณาคดีตามหมายของศาลซึ่งให้สถานพินิจควบคุมไว้นั้น มาตรา ๑๖ (๔) ให้ได้อำนาจสถานพินิจที่จะส่งตัวไปกักไว้ที่เรือนจำ โดยถือว่าอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ เมื่อเด็กถูกพิพากษาลงโทษ ศาลจะคิดหักวันที่ถูกกักอยู่ในเรือนจำให้ตามมาตรา ๒๗
นอกจากนี้มาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ. ๒๔๙๔ แก้ไขฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๙ บัญญัติว่า
“ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้มีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนดังต่อไปนี้แทนการลงโทษอาญา หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ คือ.-
๑. เปลี่ยนโทษจำคุกหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยเฉพาะการกักกัน เป็นการกักและอบรม ซึ่งจะต้องกักและอบรมในสถานที่ที่มิใช่เรือนจำเป็นเวลาตามที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าเวลาที่ผู้นั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
๒. เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกและอบรมเป็นเวลาตามที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าเวลาที่ผู้นั้นมีอายุครบ ๒๔ ปีบริบูรณ์
ฯลฯ
การที่ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวไปยังสถานฝึกและอบรมตามมาตรา ๓๑ (๒) ก็อยู่ในความหมายว่าได้พิพากษาลงโทษตามนัยมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งต้องตีความคำว่า “ลงโทษ” อย่างกว้างให้รวมถึงการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแก่เด็กหรือเยาวชนซึ่งกระทำความผิดด้วย เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔ เด็กอายุไม่เกินสิบสี่ปีไม่ต้องรับโทษอาญา ถ้าไม่ถือว่าการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนเป็นการลงโทษ ก็จะหักวันครบกำหนดควบคุมระหว่างพิจารณาคดีให้แก่เด็กดังกล่าวมิได้
ฉะนั้น สถานพินิจฯ จึงมีอำนาจที่จะส่งตัวจำเลยที่ ๑ ไปกักไว้ที่เรือนจำในระหว่างพิจารณาคดีได้ และพึงเห็นได้ว่า กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการกักและอบรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๓๑ (๑) ซึ่งให้กักกันและอบรมในสถานที่ที่มิใช้เรือนจำ การคิดหักวันที่จำเลยถูกกักอยู่ที่เรือนจำระหว่างพิจารณาคดี ก็ต้องคิดหักจากระยะเวลาที่ศาลพิพากษาให้ส่งไปยังสถานฝึกและอบรมภายหลังเปลี่ยนจากโทษจำคุกแล้วจะหักจากกำหนดโทษจำคุกก่อนเปลี่ยนนั้นหาได้ไม่ เพราะกำหนดโทษจำคุกนั้นไม่ใช่โทษที่ลงแก่จำเลยตามคำพิพากษา ที่ศาลคดีเด็กฯ เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปยังสถานที่ฝึกและอบรมฯ และเห็นว่า จำเลยถูกควบคุมมาพอแก่เวลาที่ศาลกำหนดเพื่อความปลอดภัยแล้ว ให้ปล่อยตัวจำเลยไปนั้น ย่อมทำได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมา
อย่างไรก็ตาม มาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กฯ พ.ศ. ๒๔๙๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๐๖ มาตรา ๗ บัญญัติว่า
“คดีที่ศาลคดีเด็กและเยาวชนได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วนั้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ได้เหมือนอย่างคดีธรรมดาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
ฯลฯ
(๒) ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา ๓๑ เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กและเยาวชนนั้นไปเพื่อการกักและอบรมมีกำหนดเวลากักและอบรมเกิน ๓ ปี
ฯลฯ
ฉะนั้น เมื่อศาลคดีเด็กฯ เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งสถานฝึกและอบรม อันเป็นการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา ๓๑ (๒) แล้วจะอุทธรณ์ขอให้เปลี่ยนแปลงดุลพินิจหาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตามมาตรา ๒๗ ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจที่จะแก้ดุลพินิจของศาลคดีเด็กฯ ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share