แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญาค้ำประกันระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระภาษี เมื่อโจทก์แจ้งจำนวนภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 2 ทราบแล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง โดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระก่อน และสละสิทธี่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 24 แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในศาลภาษีอากรกลางอันเป็นการไม่ถูกต้อง และต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลโดยเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรและกฎหมายอื่น จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2540 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 พบว่า จำเลยที่ 1 ได้นำใบกำกับภาษีซื้อที่ออกโดยนิติบุคคลที่มิได้ประกอบการค้าขายสินค้าจริงรวม 10 ฉบับ และจำเลยที่ 1 มิได้ซื้อสินค้าตามใบกำกับภาษีดังกล่าว ซึ่งเป็นใบกำกับภาษีปลอมตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (7) ต้องห้ามมิให้นำมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม มาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของจำเลยที่ 1 สำหรับเดือนภาษีสิงหาคม 2538 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2540 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงนำยอดซื้อตามใบกำกับภาษีปลอมมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่พร้อมทั้งคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) (7) และ 89/1 เป็นเงินทั้งสิ้น 2,396,986.34 บาท และในเดือนภาษีกรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 ได้นำใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนิติบุคคลอันเป็นใบกำกับภาษีปลอมมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จึงนำยอดซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใหม่พร้อมทั้งคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (4) (7) และ 89/1 เป็นเงินทั้งสิ้น 119,397 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้เรียกจำเลยที่ 1 มารับทราบรายละเอียดแห่งการตรวจสอบแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่คัดค้านและยินยอมชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามผลการตรวจสอบ และได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระ กลับอุทธรณ์คัดค้านการประเมินเฉพาะในประเด็นขอให้ลดหรืองดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมินให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับการแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนกรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า มีหน้าที่ต้องเสียเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 (7) แต่เพียงอนุมาตราเดียว และเห็นว่ากรณีของจำเลยที่ 1 มีเหตุอันสมควรลดเบี้ยปรับ จึงให้ชำระเบี้ยปรับเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับที่จะต้องชำระตามกฎหมาย ส่วนเงินเพิ่มไม่มีกฎหมายให้งดหรือลด รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นเงิน 1,254,363 บาท รวมกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมินจำนวน 119,397 บาท เป็นเงิน 1,373,790 บาท จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2541 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,373,760 บาท ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นงวดรวม 48 งวด พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้พิจารณาแล้วอนุญาตให้ผ่อนชำระได้ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระภาษีอากรตามสัญญาแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์จำนวน 2 งวด รวมเป็นเงิน 38,948 บาท แล้วผิดนัดไม่ผ่อนชำระตามสัญญาอีกเลย จึงไม่ได้รับอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีอากรอีกและต้องรับผิดชำระภาษีอากรตามสัญญาผ่อนชำระทั้งสิ้น รวมทั้งต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,817,779 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระภาษีอากรจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระ 1,817,779 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,817,779 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญญาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบนั้น ชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากร ข้อ 4 ระบุว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระภาษีอากรตามข้อ 1 เมื่อสรรพากรภาค 4 ได้แจ้งจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะนำเงินมาชำระให้แก่กรมสรรพากรภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยจำเลยที่ 2 จะชำระเงินให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน และสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 2 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวีธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) (ก) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้อง ทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในศาลภาษีอากรกลางอันเป็นการไม่ถูกต้อง และต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,817,779 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินกว่า 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ