คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 258/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่ดินที่ตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาย่อมตกเป็นของอธิบดีกรมที่ดินตามที่บัญญัติไว้ใน ป.ที่ดินฯ มาตรา 8 แต่สำหรับทางสาธารณประโยชน์นั้น พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ มาตรา 122 ได้บัญญัติให้กรมการอำเภอเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษา ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ มาตรา 62 วรรคสาม เห็นได้ว่าอำนาจในการกำหนดแนวเขตทางหรืออำนาจในการดูแลรักษาทางอันเป็นสาธารณประโยชน์ มิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมที่ดินจำเลยและส่วนราชการของจำเลย เมื่อส่วนราชการของจำเลยไม่มีหน้าที่กำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ การที่เจ้าพนักงานที่ดินประจำส่วนราชการของจำเลยได้รังวัดที่ดินและระบุว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะตามที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายอำเภอหัวหินนำชี้และรังวัดแนวเขตที่ดิน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์พ้นสภาพจากการเป็นทางสาธารณประโยชน์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยยื่นคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า ทางพิพาทซึ่งอยู่ในบริเวณที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่มที่ 1 หน้า 116 เลขที่ 79 และที่ดินตามใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ เลขสำรวจที่ 66/37 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 เป็นของโจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดิน 2 แปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เล่มที่ 1 หน้า 116 เลขที่ 79 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่ดินตามหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.5) เลขสำรวจที่ 66/37 ตำบลหินเหล็กไฟ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 อยู่ด้านทิศเหนือของที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 และทางทิศเหนือของที่ดินแปลงนี้จดถนนหลวงจังหวัดสายหัวหิน-หนองพลับ ส่วนที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 อยู่ด้านทิศใต้มีทางสาธารณประโยชน์คั่นระหว่างที่ดินทั้งสองแปลง และด้านทิศตะวันออกของที่ดินทั้งสองแปลงติดกับทางพิพาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าสำนักงานที่ดินอำเภอหัวหินซึ่งเป็นส่วนราชการของจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเป็นผู้กำหนดให้ทางพิพาทซึ่งโจทก์เป็นผู้สร้างขึ้นในที่ดินของโจทก์ให้ตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ โดยโจทก์ไม่รู้เห็นยินยอม ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่กำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ให้พ้นสภาพจากการเป็นทางสาธารณประโยชน์ เห็นว่า ทางสาธารณประโยชน์นั้นเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) ซึ่งที่ดินส่วนหนึ่งส่วนใดที่ตกเป็นที่สาธารณประโยชน์ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาย่อมตกเป็นของอธิบดีกรมที่ดิน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎฆมายที่ดิน มาตรา 8 แต่สำหรับทางสาธารณประโยชน์นั้น พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 มาตรา 122 ได้บัญญัติให้กรมการอำเภอเป็นผู้มีหน้าที่ตรวจตรารักษา ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 62 วรรคสาม จึงเห็นได้ว่าอำนาจในการกำหนดแนวเขตทางหรืออำนาจในการดูแลรักษาทางอันเป็นทางสาธารณประโยชน์ มิใช่เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยและส่วนราชการของจำเลย ทั้งตามทางนำสืบไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานที่ดินประจำส่วนราชการของจำเลยเป็นผู้กำหนดให้ทางพิพาทตกเป็นทางสาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ยังได้ความว่าผู้ที่ชี้และระวังแนวเขตที่ดินว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ คือนายธรรมรัตน์ โชคสุขอนันต์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตำบลหินเหล็กไฟ ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายอำเภอหัวหิน ส่วนเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดส่วนราชการของจำเลยเพียงแต่รังวัดที่ดินตามแนวเขตที่ผู้ใหญ่บ้านนำชี้อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายให้อำนาจ ดังนี้ เมื่อส่วนราชการของจำเลยไม่มีหน้าที่กำหนดให้ทางพิพาทเป็นทางสาธารณประโยชน์ การที่เจ้าพนักงานที่ดินประจำส่วนราชการของจำเลยได้รังวัดที่ดินและระบุว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะตามที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากนายอำเภอหัวหินนำชี้และระวังแนวเขตที่ดิน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้ออื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share