แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่โจทก์จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสามยทรัพย์ได้เดินผ่านหรือใช้ที่ดินของจำเลยอันเป็นภารยทรัพย์มาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เกี่ยวกับการได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่ ในส่วนที่ผู้อื่นจะได้ใช้ทางเดินอันเป็นทางพิพาทหรือไม่นั้น ไม่มีผลเกี่ยวกับการได้ภาระจำยอมโดยอายุความของโจทก์แต่ประการใด โจทก์จึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทอย่างปรปักษ์คือโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้สิทธิในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์เป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภาระจำยอมกว้างประมาณ 2 เมตร ยาวประมาณ 80 เมตร ในที่ดินของจำเลย ตามแผนที่พิพาทสังเขปเอกสารท้ายฟ้องให้โจทก์กับพวกใช้เป็นเส้นทางเดินและให้จำเลยไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินตามฟ้องโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของ โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของสามยทรัพย์ที่จะอ้างสิทธิภาระจำยอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้ใช้ทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ ต่อมาผู้รับมอบอำนาจโจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยผ่านเข้าออกเฉพาะในบางกรณีเพียงบางครั้งบางคราว และใช้มายังไม่ถึง 10 ปี ที่ดินของจำเลยจึงไม่ตกอยู่ในภาระจำยอม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางภาระจำยอมกว้าง 2 เมตร ยาว 80 เมตร ในที่ดินของจำเลยตามแผนที่พิพาท ให้โจทก์กับพวกใช้เป็นเส้นทางเดินและให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิภาระจำยอมในที่ดินของจำเลยให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ใช้ทางพิพาทจนได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 บัญญัติว่า “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” ส่วนมาตรา 1393 บัญญัติเป็นข้อความว่า ภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ และในมาตรา 1401 บัญญัติว่า “ภาระจำยอมอาจได้มาโดยอายุความ ท่านให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิอันกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม” คือให้นำมาตรา 1382 มาใช้บังคับโดยอนุโลมนั่นเอง แสดงให้เห็นว่า สิทธิการใช้ทางเดินอันตกเป็นภาระจำยอมนี้กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ ฉะนั้น การที่โจทก์จะได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสามยทรัพย์จะได้เดินผ่านหรือใช้ที่ดินของจำเลยอันเป็นภารยทรัพย์มาครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เกี่ยวกับการได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่ ผู้อื่นจะได้ใช้ทางเดินอันเป็นทางพิพาทด้วยหรือไม่ ก็หามีผลเกี่ยวกับการได้ภาระจำยอมโดยอายุความของโจทก์แต่ประการใดไม่ โจทก์จึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ฟังได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทอย่างปรปักษ์คือโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้ได้สิทธิในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์เป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี แต่ตามที่โจทก์นำสืบมาปรากฏว่าไม่มีทิศไหนของที่ดินจำเลยติดทางสาธารณะอันโจทก์จะต้องใช้ที่ดินของจำเลยผ่านออกไปสู่ทางสาธารณะแต่อย่างใด นอกจากนั้นที่ดินของโจทก์ไม่มีส่วนไหนติดที่ดินของจำเลย แต่กลับได้ความว่า ทิศเหนือและทิศใต้ของที่ดินจำเลยกับทิศตะวันออกและทิศใต้ของที่ดินโจทก์มีคลองน้ำขวางกั้นระหว่างที่ดิน ดังนั้น หากโจทก์จะเข้าไปในที่ดินของจำเลยจะต้องข้ามคลองดังกล่าวก่อน แต่เมื่อที่ดินของจำเลยแต่ก่อนไม่ได้ติดทางสาธารณะจึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะต้องใช้ทางเดินผ่านที่ดินของจำเลย นอกจากนั้นนายกิติศักดิ์ โสตรักษา พยานโจทก์ซึ่งเป็นกำนันตำบลศรีสุนทรก็ยอมรับว่าคลองน้ำดังกล่าวฤดูฝนจะมีน้ำมาก คลองน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร จะต้องนำสะพานไม้มาพาดจึงจะเดินผ่านได้ ดังนั้น ที่นายดนตรี นิลาวงษ์ และนายบุญวงษ์ นิลาวงษ์ บุตรโจทก์เบิกความว่า ใช้เส้นทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยและออกสู่ทางสาธารณะ โดยเฉพาะนายดนตรีเบิกความว่า ใช้เส้นทางพิพาทดังกล่าวมาเป็นเวลา 50 ปีแล้ว นอกจากจะขัดต่อเหตุผลเพราะไม่มีทางสาธารณะติดกับที่ดินของจำเลยแล้ว นายดนตรีและนายบุญวงษ์ในขณะเบิกความเป็นพยานก็มีอายุเพียง 37 ปี และ 38 ปี เท่านั้น จะเดินผ่านเป็นเวลาถึง 50 ปี ได้อย่างไร และตัวโจทก์ก็หาได้มาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่าโจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยทางด้านไหนผ่านที่ดินของโจทก์และจำเลยด้วยวิธีการอย่างไร ตั้งแต่เมื่อไร เป็นเวลาเท่าใดแล้วและตามคำเบิกความของนายดนตรีกับนายบุญวงษ์ก็มิได้เบิกความให้เห็นว่าโจทก์ได้เดินผ่านทางพิพาทในที่ดินของจำเลยอย่างไร จากที่ไหนไปไหน ตั้งแต่เมื่อไร แต่จำเลยนอกจากมีตัวจำเลยมาเบิกความยืนยันว่า โจทก์และบุตรไม่เคยใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านออกสู่ทางสาธารณะเพราะถ้าจะออกสู่ทางสาธารณะโจทก์จะต้องเดินออกจากที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งเป็นหัวคันนาและชาวบ้านอื่นที่อยู่ใกล้เคียงก็เดินออกสู่ทางสาธารณะเช่นเดียวกับโจทก์ ต่อมาเมื่อประมาณ 4 ถึง 5 ปี มานี้ ทางราชการเพิ่งตัดถนนสาธารณะเลียบที่ดินของจำเลยทางด้านทิศเหนือซึ่งติดกับเขา เมื่อสร้างถนนเสร็จแล้วนายดนตรีบุตรโจทก์จึงใช้รถยนต์ผ่านถนนดังกล่าวเข้าไปจอดในที่ดินของจำเลยแล้วเดินผ่านสะพานข้ามลำคลองซึ่งกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยเข้าไปที่บ่อเลี้ยงปลาในที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้รถยนต์ที่นายดนตรีใช้ทับพืชผักและรากต้นทุเรียนทำให้พืชผลเสียหายและต้นทุนเรียนตาย จำเลยได้ตักเตือนนายดนตรีให้ขับรถด้วยความระมัดระวังหลายครั้งแล้ว แต่นายดนตรีไม่ฟัง จำเลยจึงจำเป็นต้องนำต้นไม้ไปขวางทาง และต่อมานำเสาปูนไปปักขวางไว้ และจำเลยมีนายวินัย ตันมณีประเสริฐ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ซึ่งทางพิพาทตั้งอยู่และเป็นผู้ใหญ่บ้านมาแล้วถึง 26 ปี เบิกความเป็นพยานสนับสนุนว่า โจทก์ไม่เคยใช้เส้นทางผ่านที่ดินของจำเลย แต่ใช้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกผ่านหัวคันนา ต่อมาเมื่อทางราชการตัดถนนเลียบที่ดินของจำเลยทางด้านทิศเหนือบุตรโจทก์จึงใช้เส้นทางดังกล่าวผ่านที่ดินของจำเลยเข้าไปที่บ่อเลี้ยงปลาดุกในที่ดินของโจทก์ ทำให้พืชผลของจำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยได้แจ้งพยาน พยานไปดูแล้วพบว่าต้นทุเรียนของจำเลยตายจริง และนายดนตรีก็ยอมรับว่าถนนดังกล่าวทางราชการเพิ่งสร้างเป็นถนนเมื่อปี 2540 และเพิ่งทำบ่อและเลี้ยงปลาดุกในที่ดินของโจทก์เมื่อปี 2536 จำเลยทำรั้วในเขตที่ดินจำเลยกั้นทางเดินทำให้นายดนตรีไม่สามารถเข้าไปในที่ดินโจทก์ได้เมื่อเดือนเมษายน 2540 ทั้งนายดนตรียอมรับด้วยว่าหลังจากจำเลยปิดทางแล้วได้ใช้ทางผ่านที่ดินนางสุชาดา วงศ์ขจร เข้าไปในที่ดินของโจทก์ ซึ่งนางสุชาดาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า โจทก์สามารถใช้รถยนต์ผ่านที่ดินของพยานเข้าไปถึงที่ดินของโจทก์ได้และเป็นทางตรง ส่วนเส้นทางที่ผ่านที่ดินจำเลย รถยนต์ไม่สามารถเข้าออกในที่ดินของโจทก์ได้เพราะต้องผ่านคลองซึ่งมีความกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร และนางสุชาดายังเบิกความยืนยันว่า นอกจากผ่านที่ดินของพยานแล้วยังมีเส้นทางอื่นออกสู่ทางสาธารณะได้ด้วย ทำให้เห็นได้ว่าแม้ต่อมาจะมีถนนสาธารณะเลียบที่ดินของจำเลยแล้วก็ตามก็เป็นการลำบากที่โจทก์จะผ่านที่ดินของจำเลยเข้าไปในที่ดินของโจทก์หรือออกจากที่ดินของโจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะ แต่มีที่ดินแปลงอื่นที่สามารถเดินผ่านหรือใช้รถยนต์เข้าไปถึงที่ดินของโจทก์ได้สะดวกกว่าอยู่แล้ว และหากย้อนไปถึง 50 ปี ซึ่งยังไม่มีทางสาธารณะเลียบที่ดินของจำเลยจะลำบากเพียงใด หากจะต้องเดินผ่านที่ดินของจำเลยเพราะในฤดูฝนจะต้องหาไม้มาทอดข้ามลำคลองซึ่งกว้างถึง 3 เมตรด้วย จึงจะเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้ จึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะต้องเดินผ่านที่ดินของจำเลย ทั้ง ๆ ที่โจทก์สามารถเดินผ่านที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นคันนาออกสู่ทางสาธารณะได้หรือผ่านที่ดินผู้อื่น เช่น นางสุชาดาก็สามารถออกสู่ทางสาธารณะได้สะดวกกว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานจำเลย ฟังไม่ได้ว่า โจทก์เดินผ่านทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี แล้วตามที่อ้าง คงฟังได้แต่เพียงว่า เมื่อมีถนนตัดเลียบที่ดินของจำเลยทางด้านทิศเหนือนายดนตรีบุตรโจทก์จึงใช้รถยนต์ผ่านถนนดังกล่าวเข้าไปจอดในที่ดินของจำเลยแล้วเดินข้ามลำคลองซึ่งกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินของจำเลยเพื่อเข้าไปให้อาหารปลาดุกในบ่อเลี้ยงที่เพิ่งมีขึ้นเมื่อปี 2536 ในที่ดินของโจทก์ โดยนายดนตรีมิได้พักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ ส่วนนายบุญวงษ์แม้จะพักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ก็เพื่อเลี้ยงปลาดุกอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของบุคคลทั้งสอง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของโจทก์หรือแก่ที่ดินของโจทก์ แต่เพราะโจทก์อนุญาตให้เข้าไปทำได้เนื่องจากเป็นบุตร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ภาระจำยอมในทางพิพาทโดยอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน