คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1768/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีจำเลยกับโจทก์ร่วมกันเข้าหุ้นตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ต่อมาสามีจำเลยตายโจทก์จำเลยตกลงให้กิจการของห้างดำเนินต่อไป โดยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นจากสามีจำเลยเป็นจำเลย ทรัพย์สินของสามีจำเลยซึ่งมีอยู่ในห้างย่อมเป็นมรดกตกได้แก่จำเลย เมื่อจำเลยตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์แทนที่สามีจำเลยก็เท่ากับจำเลยได้ลงหุ้นแล้ว
โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนมีสิทธิที่จะไต่ถามถึงการงาน และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชีและเอกสารใด ๆของห้างได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1037 ประกอบด้วยมาตรา 1080แม้จำเลยจะมีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแสดงบัญชีรับจ่ายพร้อมทั้งหลักฐานใบสำคัญการรับจ่ายเงินของห้างหุ้นส่วนตั้งแต่วันจำเลยเข้าดำเนินกิจการจนถึงปัจจุบัน ย่อมอยู่ในวิสัยที่จำเลยจะแสดงได้ หาใช่เป็นเรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับสามีจำเลยได้ร่วมกันเข้าหุ้นตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดวิราษฎร์การช่าง โดยมีสามีจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาสามีจำเลยตายโจทก์ตกลงให้จำเลยเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยไม่ยอมแสดงบัญชีรับจ่ายและใบสำคัญการเงินของห้าง ขอให้จำเลยแสดงบัญชีรับจ่ายพร้อมทั้งหลักฐานใบสำคัญการรับจ่ายเงินของห้าง

จำเลยให้การว่า สัญญาหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยได้ทำขึ้นโดยเจตนาลวงเป็นนิติกรรมอำพราง จำเลยไม่เคยถอนหุ้นของสามีจำเลยออกจากห้าง และไม่มีการลงเงินเข้าหุ้นกันอีก ทั้งจำเลยไม่ได้ดำเนินกิจการหรือครอบครองทรัพย์สินของห้าง หลักฐานบัญชีตลอดจนใบสำคัญการเงินไม่ได้อยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแสดงบัญชีรับจ่ายพร้อมทั้งหลักฐานใบสำคัญการรับจ่ายเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดวิราษฎร์การช่าง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าโจทก์กับสามีจำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดวิราษฎร์การช่าง เมื่อสามีจำเลยตาย โจทก์และจำเลยตกลงกันให้กิจการของห้างดำเนินต่อไป โดยจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ถอนสามีจำเลยออกแล้วให้จำเลยเป็นหุ้นส่วนแทน แม้จะปรากฏว่าจำเลยไม่ได้ลงหุ้นอีกแต่ทรัพย์สินของสามีจำเลยซึ่งมีอยู่ในห้างหุ้นส่วนย่อมเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยเมื่อจำเลยตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกับโจทก์แทนที่สามีจำเลย ก็เท่ากับจำเลยลงหุ้นซึ่งสามารถตีราคาเป็นเงินได้แล้ว และจำเลยได้เข้าดำเนินกิจการของห้าง สัญญาหุ้นส่วนและการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่เป็นนิติกรรมอำพราง

โจทก์และจำเลยเป็นหุ้นส่วนกันโดยจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะไต่ถามกิจการงาน และมีสิทธิที่จะตรวจและคัดสำเนาสมุดบัญชีและเอกสารใด ๆ ของห้างหุ้นส่วนได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1037 ประกอบด้วยมาตรา 1080 แม้จำเลยจะมีเอกสารของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ขอให้แสดงบัญชีรับจ่ายพร้อมทั้งหลักฐานใบสำคัญการรับจ่ายเงินของห้างหุ้นส่วนตั้งแต่วันที่จำเลยเข้าดำเนินกิจการ ย่อมอยู่ในวิสัยที่จำเลยซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะแสดงได้ หาใช่เรื่องสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับไม่

พิพากษายืน

Share