คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1114/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจำนำหุ้นเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้กับโจทก์รวม 4 ฉบับ สัญญาจำนำ 3 ฉบับ กำหนดวงเงินจำนำค้ำประกันไว้ อีก 1 ฉบับ จำนำหุ้น 1,000 หุ้น โดยไม่ได้กรอกข้อความกำหนดวงเงินประกันไว้ สัญญาข้อ 3 กำหนดไว้ว่า “ผู้จำนำยินยอมให้ผู้รับจำนำผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และผู้จำนำยอมรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมอยู่ด้วย” มีความหมายเพียงว่า หากผู้รับจำนำผ่อนผันการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อยู่ และจำเลยที่ 2 จะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมภายในวงเงินที่นำทรัพย์สินมาจำนำเป็นประกันหนี้เท่านั้น หาใช่ขยายจำนวนเงินที่จะรับผิดออกไปจากวงเงินที่กำหนดไว้ไม่สัญญาข้อ 5 กำหนดว่า”ถ้าขายทรัพย์สินจำนำได้เงินสุทธิต่ำกว่าต้นเงินจำนำและดอกเบี้ยที่ค้างชำระผู้จำนำยอมรับชดใช้จำนวนเงินที่ยังขาดอีกจนครบ และถ้าหากขายทรัพย์สินที่จำนำได้เงินสุทธิเกินค่าจำนำมากน้อยเท่าใด ผู้จำนำยอมให้เอาไปหักใช้หนี้สินใด ๆ ที่ลูกหนี้ค้างชำระแก่ผู้จำนำอีกด้วยหากยังมีเงินเหลืออยู่อีก ผู้รับจำนำก็จะคืนให้แก่ผู้จำนำไป” สัญญาข้อนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเท่าราคาทรัพย์สินที่นำมาจำนำและชดใช้ให้ครบตามวงเงิน แม้สัญญาจำนำฉบับที่ไม่ได้กำหนดวงเงินไว้ก็มีความหมายเพียงว่า เมื่อบังคับจำนำแก่ทรัพย์สินที่จำนำแล้วต้องนำเงินที่ขายทรัพย์สินได้ทั้งหมดมาชำระหนี้ เว้นแต่กรณีชำระหนี้แล้วมีเงินเหลือจึงจะคืนให้จำเลยที่ 2 เท่านั้นมิใช่คู่สัญญาประสงค์จะให้ผู้จำนำต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ทั้งหมดนอกเหนือจากทรัพย์จำนำ การแปลเจตนาในสัญญา อาจแปลได้โดยไม่ต้องนำพยานบุคคลมาสืบ จำเลยอุทธรณ์ ไม่จำต้องแก้อุทธรณ์ เพราะกฎหมายมิได้บังคับให้ทำเช่นนั้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ได้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์และแต่งตั้งโจทก์ให้เป็นตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจำเลยที่ 1ยอมเสียค่าธรรมเนียมเป็นค่านายหน้าและค่าภาษีให้โจทก์ จำเลยที่ 2 ได้จำนำหุ้นของบริษัทสยามเครดิต จำกัด จำนวน 6,000 หุ้นเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 สั่งซื้อและขายหุ้นตลอดมา และค้างชำระเงินทดรองจ่ายค่าหุ้นกับค่าธรรมเนียมเป็นต้นเงิน 783,795.68 บาท และดอกเบี้ย122,904.21 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงได้บอกกล่าวบังคับจำนำหุ้นที่จำเลยที่ 2 นำมาประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยนำหุ้นออกขายทอดตลาดได้เงิน 530,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการขายทอดตลาดออกแล้วโจทก์ได้นำมาหักชำระดอกเบี้ย ส่วนที่เหลือจึงนำมาหักชำระต้นเงินที่ยังค้างอยู่ จึงเหลือต้นเงินที่จำเลยที่ 1ค้างชำระ 614,057.13 บาท และดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 17,260.89 บาท รวมเป็นเงิน 631, 318.02 บาท โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉยขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเงิน 631,318.02 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 614,057.13 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และสัญญาจำนำไม่สมบูรณ์จำเลยที่ 1 ไม่เคยสั่งให้โจทก์ซื้อหุ้นตามฟ้อง และโจทก์ไม่เคยซื้อหุ้นให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับโจทก์จึงไม่มีมูลหนี้จำเลยที่ 1 ไม่เคยชำระเงินค่าหุ้นและดอกเบี้ยให้โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การที่โจทก์นำหุ้นของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดจึงเป็นการไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นเงิน614,057.13 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วยเป็นเงิน 24,464.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสองให้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เป็นเงิน 614,057.13 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยมิได้แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่า จำเลยที่ 2จะต้องร่วมรับผิดในจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 คงค้างชำระหนี้โจทก์นอกเหนือจากที่บังคับจำนำชำระหนี้แล้วหรือไม่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากสัญญาจำนำที่ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.82(4ชุด) ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยจึงอยู่ที่การแปลเจตนาของคู่สัญญาตามเอกสารหมาย จ.82 (4ชุด) ว่าข้อความในสัญญาดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยอมตนเข้าผูกพันในหนี้ทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย จ.82 คือสัญญาจำนำที่จำเลยที่ 2 ทำให้กับโจทก์รวม 4 ฉบับในจำนวนนี้มี 3 ฉบับที่กำหนดวงเงินจำนำค้ำประกันไว้ กับสัญญาอีกฉบับหนึ่ง ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2521 จำนำหุ้น 1,000 หุ้น ประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้กรอกข้อความในสัญญาข้อ 1 ซึ่งมีช่องว่างให้กรอกข้อความกำหนดวงเงินประกันไว้ตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับมีสัญญาข้อ 3 ตอนท้ายกำหนดไว้ว่า ผู้จำนำยินยอมให้ผู้รับจำนำผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และผู้จำนำยอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมอยู่ด้วย ข้อความนี้แสดงเจตนาของคู่สัญญาว่าประสงค์จะผูกพันตามสัญญาข้อนี้ซึ่งเป็นข้อที่ว่าด้วยตัวทรัพย์สินที่จำนำ โดยตอนต้นของสัญญาข้อนี้กำหนดให้ผู้จำนำต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้ผู้รับจำนำรักษาไว้ และให้ผู้จำนำลงชื่อในแบบฟอร์มเพื่อการโอนหุ้นที่จำนำไว้ให้ผู้ซื้อเมื่อมีการขายทอดตลาดบังคับจำนำ หากผู้รับจำนำผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้คือจำเลยที่ 1 แล้ว ผู้จำนำคือจำเลยที่ 2ยังต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อยู่ ส่วนข้อความที่ว่ายอมรับผิดในฐานะลูกหนี้ร่วมนั้นมีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 2 จะยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมภายในวงเงินที่นำทรัพย์สินมาจำนำเป็นประกันหนี้เท่านั้น หาใช่ขยายจำนวนเงินที่จะรับผิดออกไปจากวงเงินที่กำหนดไว้ไม่ หากจะแปลข้อความดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดในหนี้นอกเหนือจากราคาทรัพย์ที่จำนำดังที่โจทก์อ้าง ย่อมหมายความว่าจำเลยที่ 3 ตกอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันหนี้อีกต่างหากจาก การ จำนำเป็นประกันหนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นสัญญาฉบับนี้คงไม่เรียกว่าสัญญาจำนำเท่านั้น และข้อสัญญาดังกล่าวควรจะต้องแยกอยู่ต่างหากจากสัญญาข้อ 3แสดงฐานะผู้ค้ำประกันโดยชัดแจ้ง อีกประการหนึ่งตามสัญญาข้อ 5 แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการบังคับจำนำจะนำเงินที่ขายทอดตลาดมาชำระหนี้อย่างไร กล่าวคือ ถ้าเป็นสัญญาที่กำหนดวงเงินและขายทรัพย์ได้เกินวงเงินจึงจะนำส่วนที่เกินไปชำระหนี้สินจำนวนอื่นได้ ถ้าขายได้ต่ำกว่าวางเงิน จำเลยที่ 2 ผู้จำนำต้องใช้ให้ครบตามวงเงิน ในกรณีบังคับใช้หนี้ตามวงเงินแล้วมีเงินเหลือต้องค้นให้ผู้จำนำคือจำเลยที่ 2 สัญญาข้อนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเท่าราคาทรัพย์สินที่นำมาจำนำ และชดใช้ให้ครบตามวงเงินเท่านั้นแม้สัญญาฉบับลงวันที่ 17 สิงหาคม 2521 ข้อ 1 จะไม่ได้กำหนดวงเงินไว้ก็มีความหมายเพียงว่า เมื่อบังคับจำนำแก่ทรัพย์สินที่จำนำแล้วต้องนำเงินที่ขายทรัพย์สินได้ทั้งหมดมาชำระหนี้ เว้นแต่กรณีชำระหนี้แล้วมีเงินเหลือจึงจะคืนให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น ฉะนั้นสัญญาฉบับที่ไม่มีวงเงินก็ ดี สัญญาฉบับอื่นที่มีวงเงินอยู่ก็ดีไม่มีทางแปลเจตนาว่าคู่สัญญาประสงค์จะให้ผู้จำนำต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ทั้งหมดนอกเหนือจากทรัพย์จำนำ สำหรับข้อที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มิได้นำหลักแก่ในศาลชั้นต้นและมิได้แก้อุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้นั้น เห็นว่า การแปลเจตนาในสัญญาก็อาจแปลได้โดยไม่ต้องนำพยานบุคคลมาสืบอีก ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ไม่จำต้องแก้อุทธรณ์เพราะกฎหมายมิได้บังคับให้ทำเช่นนั้นเนื่องจากโจทก์อุทธรณ์เป็นประเด็นโดยตรงอยู่แล้ว
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนจำเลยที่ 2.

Share