คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5140/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้อักษรโรมันคำว่า DERMACREAM จะไม่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับใดและเป็นคำที่โจทก์คิดประดิษฐ์เองก็ตาม แต่คำว่า DERMA โจทก์ยอมรับว่าเป็นคำที่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึงผิวหนัง แม้ภาษาอังกฤษจะมิใช่ภาษาประจำชาติหรือภาษาราชการของประเทศไทย แต่ก็เป็นภาษาที่มีบทบาทต่อชีวิตประจำวันทั้งในแวดวงการศึกษาและธุรกิจ ย่อมทำให้คำว่า DERMA เป็นที่รู้จักและเข้าใจกันได้อย่างแพร่หลาย เพราะบุคคลทั่วไปสามารถศึกษาได้ รวมทั้งตามพจนานุกรมคำว่า DERMA ยังนำไปใช้ในศาสตร์ที่เกี่ยวกับผิวหนังด้วย ส่วนคำว่า DREAM พจนานุกรมก็ให้ความหมายไว้ว่า ของเหลว โจทก์เพียงนำเอาคำว่า DERMA กับคำว่า CREAM ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมมาเขียนติดกันเท่านั้น ซึ่งรายการสินค้าต่างๆ ที่โจทก์ขอจดทะเบียนจำพวกที่ 3 และที่ 16 ล้วนเป็นสินค้าที่เป็นของเหลวหรือครีมซึ่งใช้สำหรับผิวหนังทั้งสิ้น คำว่า DERMACREAM จึงเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงลักษณะของสินค้าในจำพวกที่ 3 และที่ 16 ดังกล่าวโดยตรง อันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM (อ่านว่า เดอร์มาครีม) กับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า โลชั่นใช้กับเด็กอ่อน เครื่องสำอางถนอมเส้นผม เครื่องสำอางใช้ในการอาบน้ำ ผ้าชุบโลชั่นสำหรับใช้ทำความสะอาดเด็กอ่อน สบู่ ยาสีฟัน สารที่เตรียมขึ้นเพื่อทำความสะอาดร่างกาย น้ำมันใช้กับเด็กอ่อน โคโลญใช้กับเด็กอ่อน ก้านสำลีเสริมสวย แป้งเด็ก ผ้าอ้อมที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน และผ้าเช็ดทำความสะอาดที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน ตามคำขอเลขที่ 390647 และกับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า ผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและหรือเซลลูโลส กระดาษเช็ดทำความสะอาด กระดาษทิชชูทำความสะอาด ผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ / หรือเซลลูโลสที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน กระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน ตามคำขอเลขที่ 390648 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน เนื่องจากเห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ของโจทก์เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ต่อมาคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียน ขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า พณ. 0704/7450 ลงวันที่ 15 กันยายน 2542 (คำขอเลขที่ 390647) และที่ พณ. 0704/10125 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2542 (คำขอเลขที่ 390648) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 890/2543 และ 1003/2543 กับบังคับจำเลยทั้งสองและนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ของโจทก์ ตามคำขอเลขที่ 390647 และคำขอเลขที่ 390648 ต่อไป
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งกันว่า โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM กับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า โลชั่นใช้กับเด็กอ่อน ครื่องสำอางถนอมเส้นผม เครื่องสำอางใช้ในการอาบน้ำ ผ้าชุบโลชั่นสำหรับใช้ทำความสะอาดเด็กอ่อน สบู่ ยาสีฟัน สารที่เตรียมขึ้นเพื่อทำความสะอาดร่างกาย น้ำมันใช้กับเด็กอ่อน โคโลญใช้กับเด็กอ่อน ก้านสำลีเสริมสวย แป้งเด็ก ผ้าอ้อมที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อนและผ้าเช็ดทำความสะอาดที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน ตามคำขอเลขที่ 390647 และกับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้า ผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ / หรือเซลลูโลส กระดาษเช็ดทำความสะอาด กระดาษทิชชูทำความสะอาด ผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ / หรือเซลลูโลสที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน กระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน ตามคำขอเลขที่ 390648 แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนคำว่า DERMACREAM ทั้งสองคำขอของโจทก์ เนื่องจากนายทะเบียนมีความเห็นว่า คำว่า DERMACREAM เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับจดทะเบียนดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้ว คณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีมติและคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามลำดับคำขอทั้งสองนั้นด้วยเหตุผลเดียวกันคือคำว่า DERMACREAM สื่อความหมายได้ว่าเป็นครีมสำหรับผิวหนัง เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของสินค้านั้นโดยตรง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะจึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกคือ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าในคดีนี้เป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าให้เป็นที่สุดนั้น ย่อมหมายถึงคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น หากผู้ขอจดทะเบียนยังไม่เห็นด้วยกับเหตุผลในคำวินิจฉัยว่าลักษณะของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอมีลักษณะไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนและคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรแล้ว ผู้ขอย่อมนำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ทบทวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการการเครื่องหมายการค้านั้นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ได้ ซึ่งในข้อนี้โจทก์ได้บรรยายฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ของโจทก์ โดยตั้งข้อหาไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้าโลชั่นใช้กับเด็กอ่อนและสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ ตามคำขอเลขที่ 390647 และที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้าผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ / หรือเซลลูโลสหรือกระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อนและสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ ตามคำขอเลขที่ 390648 เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวโดยตรงอันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะซึ่งต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) หรือไม่ นั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังมิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงเห็นควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีก
ในปัญหานี้แม้ในอุทธรณ์ของโจทก์จะอ้างว่า อักษรโรมันคำว่า DERMACREAM ไม่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับใดและเป็นคำที่โจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นเองก็ตาม แต่คำว่า DERMA โจทก์ยอมรับว่าเป็นคำที่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับภาษาอังกฤษซึ่งหมายถึงผิวหนัง ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รู้ภาษาอังกฤษดี คำนี้ไม่มีความหมายในภาษาอังกฤษเพราะไม่ใช่คำในภาษาอังกฤษและไม่ใช่คำในภาษาอังกฤษที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป เฉพาะคนที่มีความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ของภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจึงจะทราบความหมายนั้น ผู้บริโภคชาวไทยส่วนใหญ่ไม่อาจเข้าใจความหมายของคำนี้ได้ทันทีว่าจะไปเล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวโดยตรง เห็นว่า ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในหลายวงการและหลายเชื้อชาติ แม้จะมิใช่ภาษาประจำชาติหรือภาษาราชการของประเทศไทย แต่อิทธิพลของภาษาอังกฤษคงเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของคนไทยอยู่ไม่น้อย รวมทั้งในแวดวงการศึกษาและธุรกิจ เมื่อพจนานุกรมฉบับภาษาอังกฤษได้ระบุคำว่า DERMA ไว้ พร้อมกับให้ความหมายไว้เช่นนี้แล้ว ย่อมทำให้คำว่า DERMA นี้เป็นที่รู้และเข้าใจกันได้อย่างแพร่หลายเพราะบุคคลทั่วไปสามารถศึกษาได้และคำนี้มิใช่ใช้อยู่เฉพาะบุคคลในวงจำกัดดังเช่นข้ออุทธรณ์ของโจทก์ในสำเนาพจนานุกรมที่โจทก์อ้างส่งตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จะเห็นว่า คำว่า DERMA นี้ยังนำไปใช้ในศาสตร์ที่เกี่ยวกับผิวหนังด้วย เช่น คำว่า DERMATOLOGY แปลว่า วิชาว่าด้วยโรคผิวหนัง และ DERMATOLOGIST แปลว่า ผู้ชำนาญโรคผิวหนัง เป็นต้น ส่วนคำว่า CREAM พจนานุกรมก็ให้ความหมายไว้ว่า ของเหลว แม้โจทก์จะอ้างว่าการแยกคำว่า DERMA กับ CREAM ออกจากกันไม่ถูกต้องเพราะโจทก์คิดคำว่า DERMACREAM ขึ้นมาโดยเฉพาะเจาะจงและเป็นคำที่ไม่มีความหมายก็ตาม แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์นำเอาคำว่า DERMA กับคำว่า CREAM ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมว่า ผิวหนังและของเหลว มาเขียนติดกันเท่านั้น เมื่ออ่านเป็นคำเดียวกันก็ยังคงมีความหมายว่าเป็นของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนังเช่นเดียวกับเมื่อเขียนคำว่า DERMA กับคำว่า CREAM แยกจากกันดังเช่นที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้ให้เหตุผลไว้ในคำสั่งและคำวินิจฉัย รายการสินค้าที่โจทก์ระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนจำพวกที่ 3 คือ โลชั่นใช้กับเด็กอ่อน เครื่องสำอางถนอมเส้นผม เครื่องสำอางใช้ในการอาบน้ำ ผ้าชุบโลชั่นสำหรับใช้ทำความสะอาดเด็กอ่อน สบู่ ยาสีฟัน สารที่เตรียมขึ้นเพื่อทำความสะอาดร่างกาย น้ำมันใช้กับเด็กอ่อน ก้านสำลีเสริมสวย แป้งเด็ก ผ้าอ้อมที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน และผ้าเช็ดทำความสะอาดที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน และรายการสินค้าในจำพวกที่ 16 คือ ผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ / หรือเซลลูโลส กระดาษเช็ดทำความสะอาด กระดาษทิชชูทำความสะอาด ผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษและ / หรือเซลลูโลสที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน กระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดและ / หรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน ดังนี้ เมื่อพิจารณาจากรายการสินค้าดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่าสินค้าในจำพวกที่ 3 ที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ล้วนเป็นสินค้าที่เป็นของเหลวหรือมีของเหลวอยู่ด้วยซึ่งใช้กับผิวหนังทั้งสิ้น โดยเฉพาะโลชั่นใช้กับเด็กอ่อนเห็นได้ชัดว่าเป็นของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนัง และสินค้าในจำพวกที่ 16 ก็เป็นสินค้าที่มีส่วนผสมของของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนัง คำว่า DERMACREAM จึงเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงลักษณะของสินค้าในจำพวกที่ 3 และที่ 16 ดังกล่าวโดยตรง อันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะไม่ถึงขั้นต้องใช้จินตนาการมากจึงจะเข้าใจได้ว่าคำว่า DERMACREAM หมายถึงของเหลวหรือครีมสำหรับผิวหนังดังที่โจทก์อุทธรณ์แต่อย่างใด ส่วนข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ระบุรายการสินค้าในแต่ละคำขอไว้หลายรายการต้องพิจารณาเป็นแต่ละรายการไป มิใช่เหมารวมรายการสินค้าทั้งหมดไปด้วยกันเช่นนี้นั้น เห็นว่า การพิจารณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เป็นลักษณะของการพิจารณาเป็นรายคำขอ มิใช่ต้องพิจารณาสินค้าแต่ละรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียน เมื่อนายทะเบียนพบลักษณะที่ต้องห้ามมิให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าชนิดใดในรายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนนั้นแล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็ชอบที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอนั้น หากโจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ต้องห้ามจดทะเบียนสำหรับสินค้าชนิดใดเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์มิใช่คำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง โจทก์ก็ชอบที่จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าชนิดนั้นโดยระบุเฉพาะสินค้าชนิดนั้นในคำขอจดทะเบียนได้อยู่แล้ว คำสั่งของนายทะเบียนและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า DERMACREAM ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้าโลชั่นใช้กับเด็กอ่อนและสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ ตามคำขอเลขที่ 390647 และที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนกับสินค้าจำพวกที่ 16 รายการสินค้าผ้าอ้อมทำด้วยกระดาษหรือเซลลูโลสหรือกระดาษทำความสะอาดเพื่อสุขภาพอนามัยที่ชุบด้วยสารทำความสะอาดหรือชุบด้วยโลชั่นสำหรับเด็กอ่อน และสินค้าอื่นๆ ในจำพวกนี้ตามคำขอเลขที่ 390648 โดยเห็นว่าคำว่า DERMACREAM ซึ่งมีความหมายว่าครีมหรือของเหลวสำหรับผิวหนังเป็นคำที่มีความหมายเล็งถึงลักษณะของสินค้าที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวโดยตรงอันไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 6 (1) และมาตรา 7 วรรคสอง (2) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นั้นเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share