คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1698/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สภาพการเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างผู้ถูกละเมิดและผู้ต้องรับผิดจากมูลละเมิด เกิดขึ้นทันทีที่มีการทำละเมิดขึ้นคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กันมิได้เป็นการก่อให้เกิดหนี้ แต่เป็นการบังคับตามความรับผิดแห่งหนี้ที่ได้มีต่อกัน ถือได้ว่า จำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์นับแต่ขณะที่ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้างทำให้โจทก์เสียหายแล้วและประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ก็มิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา เพียงแต่จำเลยรู้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วได้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ ก็เป็นความผิดแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนท้ายรถยนต์สามล้อ เป็นเหตุให้นายสมัคร สุขีนิตย์สามีโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลย ต่อมาโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยกับพวกเรียกค่าเสียหายศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยกับพวกใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคดีถึงที่สุดแล้ว ปรากฏว่า จำเลยได้โอนขายรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-3736 กรุงเทพมหานคร ให้แก่นางวันดี เสียงดีโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่า โจทก์ทั้งสองกำลังใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลโดยการฟ้องคดีแพ่งดังกล่าวเพื่อบังคับให้จำเลยชำระหนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ทั้งสองได้รับการชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีก ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 ลงโทษจำคุก 6 เดือน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2525 ลูกจ้างของจำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 70-3736 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยในทางการที่จ้างชนท้ายรถยนต์สามล้อเป็นเหตุให้นายสมัครสามีโจทก์ที่ 1ซึ่งขับขี่รถยนต์สามล้อคันดังกล่าวถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายโดยขอฟ้องคดีอย่างคนอนาถา เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2526 จำเลยได้รับหมายนัดพร้อมสำเนาคำร้องและคำฟ้อง วันที่ 27 มกราคม 2526 ต่อมาวันที่ 30พฤษภาคม 2526 จำเลยได้โอนทางทะเบียนขายรถยนต์บรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุให้แก่นางวันดี เสียงดี ศาลแพ่งได้พิพากษาคดีถึงที่สุดให้จำเลยกับพวกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเมื่อวันที่16 สิงหาคม 2527 ส่วนคดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์ทั้งหมด โดยวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าข้ออ้างที่โจทก์ทั้งสองอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยกับพวกเป็นคดีแพ่งสืบเนื่องมาจากมูลละเมิด กรณียังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์ทั้งสองจะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยหรือไม่ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยกับพวกเป็นคดีแพ่งดังกล่าวโดยศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำพิพากษาว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ทั้งสอง แม้จำเลยโอนขายรถยนต์ให้แก่บุคคลอื่นก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นอีกต่อไปนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ได้บัญญัติว่า “ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด” แสดงว่าสภาพการเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ระหว่างผู้ถูกละเมิดคือโจทก์และผู้ต้องรับผิดจากมูลละเมิดคือจำเลย เกิดขึ้นทันทีที่มีการทำละเมิดขึ้น คำพิพากษาของศาลที่บังคับให้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่กันมิได้เป็นการก่อให้เกิดหนี้ระหว่างโจทก์จำเลย แต่เป็นการบังคับตามความรับผิดแห่งหนี้ที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยได้มีต่อกันดังนั้น ถือว่าจำเลยเป็นลูกหนี้โจทก์นับแต่ขณะที่ลูกจ้างของจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อชนท้ายรถยนต์สามล้อที่สามีโจทก์ที่ 1ขับขี่แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ก็บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ย้ายไปเสียซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดีแกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”จะเห็นได้ว่าความผิดตามมาตรานี้มิได้ถือเอาคำพิพากษาของศาลให้รับผิดในทางแพ่งมาเป็นองค์ประกอบความผิดในทางอาญา ทั้งยังบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเพียงแต่รู้ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วกระทำการดังกล่าวก็ถือว่าเป็นความผิดแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย และศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลย จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์อื่นของจำเลยต่อไป”
พิพากษากลับ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share