แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยฎีกาเฉพาะเรื่องค่าเสียหาย โดยยกเอาคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาเป็นข้อบรรยายแล้วสรุปว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เอง เป็นทำนองว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีความขัดแย้งกันเอง โดยไม่มีข้อความบรรยายให้ปรากฏชัดว่าขัดแย้งในเรื่องใด เพราะเหตุใด ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรกศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถฟอร์ดคูเรียร์ หมายเลขทะเบียน 6 น – 9470 พร้อมอุปกรณ์ครบชุดจากโจทก์ในราคา 175,646 บาทตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็น 43 งวด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์รวมเป็นเงิน 115,500 บาท แล้วผิดนัดตั้งแต่งวดที่ 29 จนถึงวันฟ้องเกินกว่า 2 งวด ติดต่อกัน สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี แต่ไม่ส่งมอบโจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำรถที่เช่าซื้อไปให้ผู้อื่นเช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าอัตราค่าเช่าซื้อและรถเสื่อมราคาค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 40,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 40,500 บาท และส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน จากต้นเงิน60,500 บาท นับจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เช่าซื้อรถพิพาทจากบริษัทแองโกล-ไทยมอเตอร์ จำกัด สาขาเชียงใหม่ เป็นเงิน 166,300 บาท โดยคิดดอกเบี้ย15 ต่อปี จำเลยที่ 1 ได้ส่งเงินให้โจทก์เรื่อยมารวมเป็นเงิน171,000 บาท ครบตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถพิพาทคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 20,000 บาท กับให้ชำระค่าเสียหาย 1,250 บาท รวมเป็นเงิน 21,250 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,200 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถแก่โจทก์ 27,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็ฯพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 ฎีกาเฉพาะเรื่องค่าเสียหายซึ่งในส่วนนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่สัญญาเลิกกันจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,250 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายตั้งแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องแก่โจทก์และกำหนดค่าเสียหายเป็นเงิน 27,000 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยยกเอาคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มาเป็นข้อบรรยายแล้วสรุปว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เองเป็นทำนองว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มีข้อความขัดแย้งกันเองแต่ฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่มีข้อความบรรยายให้ปรากฏชัดว่าขัดแย้งในเรื่องใด เพราะเหตุใดฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณา แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยที่ 1 คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยที่ 1 ค่าทนายความในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.