คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 41/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าของเรือมาตุภูมิได้ดำเนินการขนส่งสินค้าร่วมกับบริษัทอาร์. โดยแบ่งหน้าที่และผลประโยชน์กัน จำเลยจึงเป็น “ผู้ขนส่ง” นิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ เพราะเข้าลักษณะของบุคคลที่ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติและร่วมกันเป็นฝ่ายที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ ดังนั้น เมื่อสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะอุณหภูมิไม่คงที่ในระหว่างการขนส่งในช่วงจากท่าเรือในเมืองสุราบายาถึงท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งมีความล่าช้าผิดปกติ จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายของสินค้าให้แก่โจทก์
พยานหลักฐานของโจทก์เป็นพยานเอกสารที่ทำขึ้นก่อนเกิดข้อพิพาท เอกสารแต่ละฉบับมีรายละเอียดและจำนวนเงินระบุไว้อย่างมีเหตุผล เชื่อว่ารายการต่างๆ มีมูลค่าตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง อย่างไรก็ตาม น. กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ให้ถ้อยคำว่าสินค้ารายพิพาทนี้เป็นราคาซีแอนด์เอฟคือราคาสินค้ารวมค่าระวาง ดังนั้น ค่าระวางรายการที่สองที่โจทก์เรียกร้องมาจึงรวมอยู่ในค่าสินค้ารายการที่หนึ่งด้วยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ซ้ำอีกได้ ส่วนค่าเสียหายรายการที่เหลือ เมื่อเป็นรายการที่โจทก์ได้จ่ายไปจริงและไม่ซ้ำซ้อนกับรายการอื่น จึงเป็นความเสียหายที่แท้จริงของโจทก์ แต่เมื่อคดีนี้เป็นการเรียกร้องให้จำเลยผู้ขนส่งรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งสินค้าทางทะเล จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดไม่เกินกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักของสินค้าตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และมาตรา 59 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,027,790.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นโดยที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการผลิตอาหารทะเลแช่แข็ง เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2543 โจทก์สั่งซื้อสินค้าปลาทูน่าแช่แข็งจากผู้ขายที่ประเทศอินโดนิเซียและขอให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายแทนโจทก์ ต่อมาสินค้าได้ถูกขนส่งโดยตู้คอนเทนเนอร์ชนิดมีเครื่องทำความเย็น 2 ตู้ เลขที่อาร์อีจียู 1804850 และอาร์อีจียู 1805040 ซึ่งที่ข้างตู้มีตัวอักษรภาษาอังกฤษขนาดใหญ่สูงประมาณครึ่งหนึ่งของตู้แสดงชื่อทางการค้าของผู้ประกอบการว่า “RCL” ตามภาพถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เอกสารหมาย จ.56 การขนส่งครั้งนี้ผู้ส่งรับตู้คอนเทนเนอร์จากผู้ขนส่งไปบรรจุสินค้าเข้าตู้และปิดผนึกตู้เอง (Shipper’s Load and Count, Container Sealed by Shippers) ส่วนผู้ขนส่งทำหน้าที่รับตู้สินค้าไว้ในความดูแลตั้งแต่ลานวางตู้สินค้าที่ท่าเรือในเมืองสุราบายา (SURABAYA CY) ประเทศอินโดนีเซีย จนถึงเมื่อส่งมอบตู้สินค้าที่ลานวางตู้สินค้าที่ท่าเรือในกรุงเทพมหานคร (BANGKOK CY) ระหว่างเดินทางจากท่าเรือในเมืองสุราบายามายังท่าเรือในกรุงเทพมหานครนั้น เครื่องทำความเย็นของตู้สินค้าถูกกำหนดไว้ว่าต้องมีอุณหภูมิอยู่ที่ลบ 18 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2543 ตู้สินค้าได้ถูกขนลงเรือฟองเจาเที่ยวที่ 002 ที่ท่าเรือในเมืองสุราบายา และในวันเดียวกันผู้ขนส่งได้ออกใบตราส่งเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ให้ไว้เป็นหลักฐานแห่งการขนส่ง ใบตราส่งดังกล่าวเป็นแบบฟอร์มสัญญาสำเร็จรูปที่ใช้แก่ลูกค้าทั่วไปของผู้ขนส่ง ที่หัวกระดาษด้านขวามือมีชื่อทางการค้าเป็นตัวอักษรขนาดใหญ่ว่า RCL อยู่ในกรอบวงรี จากนั้นจึงมีข้อความแยกออกไปว่า Regional Container Lines อยู่ข้างๆ กรอบวงรี ส่วนผู้ลงนามในใบตราส่งในฐานะผู้ขนส่งนั้นระบุไว้ว่าคือ อาร์ซีแอล ฟีดเดอร์ พีทีอี แอลทีดี (RCL FEEDER FTE LTD) และระบุไว้ด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มบริษัท RCL ใบตราส่งดังกล่าวได้ระบุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับตราส่ง และระบุว่าจะมีการเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าจากเรือฟองเจาไปยังเรือมาตุภูมิเที่ยวที่ 469 N ที่ประเทศสิงคโปร์ ต่อมาวันที่ 20 มิถุนายน 2543 ตู้สินค้าได้ถูกเปลี่ยนถ่ายจากเรือฟองเจาไปยังเรือมาตุภูมิที่ประเทศสิงคโปร์แต่เป็นเรือมาตุภูมิเที่ยวที่ 470 N ไม่ใช่เรือมาตุภูมิเที่ยวที่ 469 N เรือมาตุภูมิเที่ยวที่ 470 N ได้เดินทางขนตู้สินค้ามาถึงท่าเรือของบริษัทไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2543 หลังจากยกตู้สินค้าลงจากเรือแล้วได้มีการขนตู้สินค้าไปไว้ที่ลานวางตู้สินค้าที่ท่าเรือบริษัทไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด โดยบริษัทไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด รับตู้สินค้าไว้ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2543 ปรากฏว่าตู้คอนเทนเนอร์นั้นอยู่ในสภาพดี ตามใบรับตู้ของบริษัทไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด เอกสารหมาย ล.7 และ ล.8 ในวันเดียวกันบริษัทโหวงฮก จำกัด เป็นผู้ออกใบสั่งปล่อยสินค้า (Delivery Order) ให้แก่ตัวแทนของโจทก์ ตามใบสั่งปล่อยสินค้าเอกสารหมาย ล.5 และ ล.6 และบริษัทโหวงฮก จำกัด เป็นผู้รับชำระเงินค่าธรรมเนียมใบปล่อยสินค้า ค่าลานวางตู้สินค้า ค่าไฟฟ้าของตู้สินค้าระหว่างวันที่ 24 ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2543 และค่ายกขนตู้สินค้า ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.35 ถึง จ.38 ในวันเดียวกันเมื่อขนตู้สินค้าไปที่โรงงานของตัวแทนโจทก์แล้วเปิดตู้ตรวจสอบปรากฏว่าปลาทูน่าในตู้คอนเทนเนอร์ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์เดิมได้จึงนำออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน 148,089.60 บาท ตามรายงานผลการสำรวจของบริษัทวูฟแกงค์พลาท (ประเทศไทย) จำกัด เอกสารและภาพถ่ายหมาย จ.22 ถึง จ.25 และรายงานผลการสำรวจของบริษัทจาร์ดีน เซอร์เวย์อิงค์ เซอร์วิสเซส เอกสารและภาพถ่ายหมาย ล.18 อุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ระหว่างถูกขนส่งจากประเทศสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏตามสำเนาและต้นฉบับกราฟวงกลมแสดงอุณหภูมิ (PART LOW CHART) เอกสารหมาย จ.13 จ.14 และ ล.1 ล.2 สำหรับจำเลยนั้นมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเป็นเจ้าของเรือ ทำการก่อตั้งและเปิดสายการเดินเรือ ให้บริการการเดินเรือ และประกอบกิจการในการขนส่งสินค้าโดยเรือหรือรถหรือโดยวิธีอื่น มีทุนจดทะเบียน 663,000,000 บาท โดยมีทุนที่ชำระแล้ว 636,662,870 บาท และมีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 127/35 อาคารปัญจธานีทาวเวอร์ชั้น 30 ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร มีนายสุเมธ ตันธุวนิตย์ และนายสุวัฒน์ ตันธุวนิตย์ สองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้ ปรากฏตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.12 และจำเลยยังเป็นเจ้าของเรือมาตุภูมิที่ใช้ขนส่งสินค้าพิพาทในระหว่างประเทศสิงคโปร์มายังท่าเรือกรุงเทพ โดยจำเลยจดทะเบียนรับโอนเรือมาตุภูมิมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 ปรากฏตามหลักฐานการจดทะเบียนเรือเอกสารหมาย จ.11
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏจากด้านหลังใบตราส่งเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ว่าธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตชำระเงินค่าปลาทูน่าพิพาทแทนโจทก์และเป็นผู้รับตราส่งได้สลักหลังและส่งมอบใบตราส่งดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วเพื่อให้โจทก์นำใบตราส่งดังกล่าวไปรับสินค้าจากผู้ขนส่งได้ ดังนั้น โจทก์เป็นผู้รับโอนใบตราส่งจากผู้รับตราส่งโดยชอบ จึงมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสองตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยเป็นผู้ขนส่งหรือผู้ขนส่งอื่นหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้นิยามคำว่า “ผู้ขนส่ง” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติ โดยทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ คดีนี้จำเลยเป็นเจ้าของเรือมาตุภูมิซึ่งเป็นเรือที่รับขนสินค้าในช่วงจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย โดยถ่ายตู้สินค้าจากเรือฟองเจาที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 แล้วเดินทางต่อมายังประเทศไทยโดยใช้เวลาอีกประมาณ 3 ถึง 4 วัน ชื่อของจำเลยนอกจากตรงกับชื่อทางการค้าของผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์ 2 ตู้ที่ใช้ขนส่งสินค้าพิพาทแล้ว ยังตรงกับชื่อทางการค้าที่หัวกระดาษของแบบฟอร์มใบตราส่ง ทั้งยังมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเป็นเจ้าของเรือ ทำการก่อตั้งและเปิดสายการเดินเรือ ให้บริการการเดินเรือ และประกอบกิจการในการขนส่งสินค้าโดยเรือมีทุนที่ชำระแล้วสูงถึง 636,662,870 บาท จำเลยจดทะเบียนรับโอนเรือมาตุภูมิมาตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2541 ก่อนเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ไม่ถึงสองปี แต่อ้างว่าขณะเกิดเหตุได้ให้บริษัทรีจันแนล คอนเทนเนอร์ ไลน์ ไพรเวท จำกัด ประเทศสิงคโปร์เช่าไปทั้งลำ ต่อจากนั้นบริษัทอาร์ซีแอล ฟีดเดอร์ พีทีอี จำกัด เป็นผู้เช่าระวาง เรือบางส่วนต่อจากผู้เช่าเรือดังกล่าวอีกทอดหนึ่งนายเรือและลูกเรือล้วนแต่ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลย แต่พยานหลักฐานของจำเลยในข้อนี้คงมีเพียงนายเลี้ยง ชัยวิภาส ผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยมาเบิกความลอยๆ โดยไม่มีเอกสารหลักฐานใดมาสนับสนุนซึ่งหากมีการให้เช่าไปแล้ว อีกทั้งนายเรือและลูกเรือไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะนำเอกสารหลักฐานมาแสดง และยังปรากฏว่าจำเลยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารปัญจธานีทาวเวอร์ ถนนนนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร อาคารเดียวกับบริษัทโหวงฮก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เป็นผู้รับชำระเงินและผู้ออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมตัวสินค้าค่าไฟฟ้าค่าลานวางตู้สินค้า และค่ายกของ ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.35 ถึง จ.38 แม้จำเลยนำสืบต่อสู้ว่าบริษัทโหวงฮก จำกัด รับชำระเงินไว้แทนบริษัทอาร์ซีแอล ฟีดเดอร์ พีทีอี จำกัด ผู้ขนส่ง แต่ก็ปรากฏข้อความในใบเสร็จรับเงิน เอกสารหมาย จ.37 และ จ.38 และในหัวหนังสือของบริษัทโหวงฮก จำกัด เอกสารหมาย จ.26 ว่า บริษัทอาร์ซีแอล ฟีดเดอร์ พีทีอี จำกัด มีสำนักงานอยู่ที่เดียวกันกับบริษัทโหวงฮก จำกัด นอกจากนี้ปรากฏด้วยว่าบริษัทโหวงฮก เอเยนซี่ จำกัด มีสำนักงานอยู่ที่อาคารปัญจธานีทาวเวอร์เช่นเดียวกับจำเลย ทั้งยังมีนายสุเมธ ตันธุวนิตย์ และนายสุวัฒน์ ตันธุวนิตย์ สองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทกระทำการแทนบริษัทได้เช่นเดียวกับจำเลย ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.59 ประกอบกับบริษัทโหวงฮก จำกัด บริษัทโหวงฮก เอเยนซี่ จำกัด และจำเลยต่างก็ตั้งให้นายเลี้ยงเป็นตัวแทนของตนในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ดังที่ปรากฏในบันทึกยืนยันข้อเท็จจริงของนายเลี้ยง แผ่นที่ 1 และ 2 หนังสือของบริษัทโหวงฮก จำกัด เอกสารหมาย จ.26 และหนังสือมอบอำนาจให้ต่อสู้คดีของจำเลย เอกสารหมาย ล.11 สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกขนถ่ายขึ้นจากเรือมาตุภูมิไปวางไว้ที่ลานวางตู้สินค้าที่ท่าเรือของบริษัทไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด นั้น นอกจากที่ข้างตู้มีตัวอักษรภาษาอังกฤษขนาดใหญ่ว่า RLC แล้ว ยังปรากฏตามใบรับเงินค่ามัดจำตู้คอนเทนเนอร์ที่ออกโดยบริษัทโหวงฮก จำกัด เอกสารหมาย ล.9 และ ล.10 ว่า ก่อนนำตู้ออกไปจากลานวางตู้ที่ท่าเรือบริษัทไทยพรอสเพอริตีเทอมินอล จำกัด ตัวแทนโจทก์ต้องจ่ายเงินค่ามัดจำตู้ ตู้ละ 10,000 บาท ให้แก่บริษัทโหวงฮก จำกัด โดยต้องทำคำรับรองไว้ว่าจะนำตู้เปล่ามาคืนให้แก่บริษัทโหวงฮก จำกัด ในเขต “RCL DEPOT” อีกด้วย พฤติการณ์ของจำเลยในการดำเนินธุรกิจดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเชื่อได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเรือมาตุภูมิได้ดำเนินการขนส่งสินค้าในครั้งพิพาทนี้ร่วมกับบริษัทอาร์ซีแอล ฟีดเดอร์ พีทีอี จำกัด โดยแบ่งหน้าที่และผลประโยชน์กัน จำเลยจึงเป็น “ผู้ขนส่ง” ตามนิยามในมาตรา 3 พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 เพราะเข้าลักษณะของบุคคลที่ประกอบกิจการรับขนของทางทะเลเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติและร่วมกันเป็นฝ่ายที่ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
สำหรับปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปนั้น เป็นปัญหาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานกันมาจนสิ้นกระบวนพิจารณาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยต่อไปเลยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยใหม่ โดยมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปประการแรกว่า สินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งหรือไม่ โจทก์มีรายงานผลการตรวจรับรองคุณภาพปลาขณะที่ผู้ส่งบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ตามเอกสารหมาย จ.15 จ.16 และ จ.17 กับเอกสารการกำหนดมาตรฐานที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปของไทยกำหนดไว้ตามเอกสารหมาย จ.58 มาแสดงให้เห็นว่าก่อนบรรจุปลาเข้าตู้คอนเทนเนอร์อุณหภูมิที่ตัวปลาวัดได้ลบ 25 องศาเซลเซียส เพียงพอที่ว่าเมื่อบรรจุปลาเข้าตู้แล้วจะทำให้มีอุณหภูมิเหลืออยู่ที่ลบ 18 องศาเซลเซียส สภาพของตัวปลาขณะนั้น เนื้อปลาไม่มีสีชมพูอมส้มและไม่มีเชื้ออหิวาต์อันเป็นการถูกต้องตรงตามมาตรฐานที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปของไทยกำหนดไว้ ในเรื่องนี้นายอานนท์ จันทรวิภาค ผู้สำรวจสินค้าทางฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นพยานจำเลยก็เบิกความเจือสมกับพยานหลักฐานของโจทก์ว่า ในหลักการแล้วการบรรจุปลาทูน่าเข้าตู้นั้นต้องทำให้อุณหภูมิของตัวปลาอยู่ที่ลบ 20 องศาเซลเซียสก่อน เนื่องจากในการบรรจุปลาทูน่าเข้าตู้จะต้องมีการเปิดตู้ทำให้อุณหภูมิเพิ่มจึงต้องทำให้อุณหภูมิลบต่ำไว้ก่อน จึงฟังได้ว่าผู้ส่งของทำการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ถูกต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สินค้าปลาทูน่าได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งหรือไม่ แม้ปรากฏตามกราฟวัดอุณหภูมิของตู้สินค้าขณะบรรทุกอยู่บนเรือมาตุภูมิตามเอกสารหมาย จ.13 จ.14 และ ล.1 ล.2 ว่า ตู้สินค้าถูกบรรทุกลงเรือเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 อุณหภูมิที่กำหนดไว้ (SETTING TEMP) คือลบ 18 องศาเซลเซียส และระหว่างการเดินทางตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2543 จนถึงประเทศไทยวันที่ 24 มิถุนายน 2543 อุณหภูมิของตู้สินค้าค่อนข้างคงที่อยู่ที่ลบ 18 องศาเซลเซียส แต่ปรากฏตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 ว่า ตู้สินค้าถูกขนลงเรือฟองเจาที่เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2543 โดยมีกำหนดการเดิมตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งว่าจะเปลี่ยนถ่ายลงเรือมาตภูมิ เลขที่ 469 N ในข้อนี้นายเลี้ยงเบิกความว่า ตามปกติการเดินทางจากเมืองสุราบายาไปยังประเทศสิงคโปร์ จะใช้เวลาเพียง 2 ถึง 3 วัน แต่กลับปรากฏว่าเพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงถ่ายตู้สินค้าลงเรือมาตุภูมิเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 และเรือมาตุภูมิที่ใช้ขนแท้จริงคือ เรือมาตุภูมิเที่ยวที่ 470 N ไม่ใช่เที่ยวที่ 469 N แสดงว่าการเดินทางโดยเรือฟองเจาจากเมืองสุราบายาไปยังประเทศสิงคโปร์มีความล่าช้าผิดปกติ จำเลยซึ่งมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับบริษัทโหวงฮก จำกัด อันเป็นบริษัทที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าเป็นตัวแทนของผู้ขนส่ง ไม่ได้ส่งต้นฉบับหรือสำเนากราฟวงกลมแสดงอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ในระหว่างการขนส่งจากช่วงท่าเรือในเมืองสุราบายาจนถึงประเทศสิงคโปร์คงส่งเพียงกราฟวงกลมแสดงอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ในระหว่างการขนส่งจากช่วงประเทศสิงคโปร์ถึงท่าเรือกรุงเทพ ทั้งที่น่าจะหาหลักฐานดังกล่าวมาพิสูจน์ถึงการควบคุมดูแลอุณหภูมิของตู้คอนเทนเนอร์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้โดยง่าย หากการควบคุมอุณหภูมิสามารถควบคุมไว้ได้คงที่ที่ลบ 18 องศาเซลเซียส ดังที่จำเลยนำสืบนอกจากนี้พยานจำเลยปากนายอานนท์ยังเบิกความยอมรับว่าบริษัทโหวงฮก จำกัด ได้เรียกให้พยานตรวจสอบความเสียหายของสินค้าก่อนที่เรือมาถึงท่าเรือ โดยได้รับแจ้งจากบริษัทโหวงฮก จำกัด เมื่อวันศุกร์ ส่วนเรือเข้าท่าวันอาทิตย์ กรณีที่มีการเรียกให้มาตรวจสอบก่อนเรือมาถึงเช่นนี้ พยานเชื่อว่าบริษัทโหวงฮก จำกัด คงต้องทราบว่าสินค้าเสียหายก่อนมาถึงจึงได้เรียกพยานมาตรวจสอบ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ในปัญหาว่าสินค้าได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่งหรือไม่นั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักดีกว่าจำเลย น่าเชื่อว่าสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเพราะอุณหภูมิที่ไม่คงที่ในระหว่างการขนส่งในช่วงจากท่าเรือในเมืองสุราบายาถึงท่าเรือสิงคโปร์ซึ่งความล่าช้าผิดปกติ จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายของสินค้าให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปประการสุดท้ายว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีเพียงใด โจทก์มีนายนำชัย คำนนท์ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นประกอบพยานเอกสารและมาเบิกความพยานว่าโจทก์ได้รับความเสียหายรวม 5 รายการ รายการที่หนึ่งได้แก่ค่าปลาทูน่าจำนวน 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งได้รับความเสียหายทั้งหมดมีมูลค่าตามใบกำกับสินค้าเอกสารหมาย จ.20 และ จ.21 และใบแจ้งหนี้เอกสารหมาย จ.27 และ จ.28 รวมเป็นเงิน 5,089,802.38 บาท แต่โจทก์ติดใจเรียกร้องเพียง 4,817,596.09 บาท รายการที่สองได้แก่ค่าระวางเรือตามใบเสร็จรับเงินค่าระวางเอกสารหมาย จ.29 และ จ.30 รวมเป็นเงิน 251,271.04 บาท รายการที่สามได้แก่ค่าธรรมเนียมธนาคารตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.31 ถึง จ.34 รวมเป็นเงิน 22,076.31 บาท รายการที่สี่ได้แก่ค่าใช้จ่ายที่ท่าเรือกรุงเทพตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.35 ถึง จ.40 รวมเป็นเงิน 21,700 บาท และรายการที่ห้าได้แก่ค่าตรวจสอบสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ตามใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.41 ถึง จ.48 รวมเป็นเงิน 63,237 บาท รวมทั้งห้ารายการเป็นเงินจำนวน 5,175,880.44 บาท ส่วนจำเลยคงมีเพียงนายเลี้ยง ชัยวิภาส ผู้รับมอบอำนาจจำเลยทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นประกอบพยานเอกสารและมาเบิกความเป็นพยานว่า ค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์เรียกร้องนั้นสูงเกินกว่าความจริงและไม่ถูกต้อง เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นพยานเอกสารที่ทำขึ้นก่อนเกิดข้อพิพาทในคดีนี้ เอกสารแต่ละฉบับมีรายละเอียดและจำนวนเงินระบุไว้อย่างมีเหตุผล พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าพยานจำเลยซึ่งเป็นเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอยๆ เชื่อว่ารายการต่างๆ มีมูลค่าตามที่โจทก์กล่าวอ้างจริง อย่างไรก็ตามนายนำชัยให้ถ้อยคำว่าสินค้าปลาทูน่าครั้งพิพาทนี้เป็นราคาซีแอนด์เอฟคือราคาสินค้ารวมค่าระวาง ดังนั้น ค่าระวางรายการที่สองที่โจทก์เรียกร้องมาจึงรวมอยู่ในค่าสินค้ารายการที่หนึ่งด้วยแล้ว โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายส่วนนี้ซ้ำอีกได้ ส่วนค่าเสียหายรายการที่เหลือเมื่อเป็นรายการที่โจทก์ได้จ่ายไปจริงและไม่ซ้ำซ้อนกับรายการอื่น จึงเป็นความเสียหายที่แท้จริงของโจทก์แต่เมื่อคดีนี้เป็นการเรียกร้องให้จำเลยผู้ขนส่งรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งสินค้าทางทะเล จำเลยจึงอ้างข้อจำกัดความรับผิดไม่เกินกิโลกรัมละ 30 บาทต่อน้ำหนักของสินค้าตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง และมาตรา 59 (1) ปรากฏว่าสินค้าที่เสียหายตามคำฟ้องมีน้ำหนักรวม 49,836.20 กิโลกรัม คิดคำนวณตามข้อจำกัดความรับผิดตามน้ำหนักสินค้าคือกิโลกรัมละ 30 บาท ได้เป็นเงินจำนวน 1,495,086 บาท โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายรวมสี่รายการเป็นเงิน 5,175,880.44 บาท เมื่อหักค่าระวางเรือรายการที่สองจำนวน 251,271.04 บาท และเงินที่ขายปลาทูน่าที่เสียหายที่ได้จากการขายทอดตลาดจำนวน 148,089.60 บาท ออกแล้วคงเหลือค่าเสียหายเป็นเงิน 4,776,519.80 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวน 1,495,086 บาท ดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดเพียง 1,495,086 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ขอ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,495,086 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวม 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี

Share