คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12603/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 โดยไม่ได้อ้าง ป.อ. มาตรา 341 แต่ความผิดฐานดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรกได้ ไม่เป็นการเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343, 91, 83 และให้จำเลยคืนเงิน 141,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 การกระทำความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง กับการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน ฯ มาตรา 91 ตรี อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจจัดหางานโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี คำรับของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสามนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยกับพวกชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายทั้งสามจนเป็นที่พอใจและได้ทำบันทึก มีใจความว่าผู้เสียหายทั้งสามไม่ติดใจดำเนินคดีแพ่งหรืออาญาแก่จำเลยกับพวกอีกต่อไป ต้องถือว่าสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้เสียหายทั้งสามย่อมระงับไปตามบันทึกดังกล่าว ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง, 82 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาจัดหางานหรือส่งคนหางานไปต่างประเทศและไม่ได้หลอกลวงโดยประกาศหรือโฆษณาหรือบรรยายแก่ประชาชนทั่วไปนั้น เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องนั้น เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามซึ่งเป็นคนหางานให้ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียหรือไม่ จึงเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้าง ฎีกาของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงว่า เมื่อโจทก์ไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 เพียงมาตราเดียวโดยไม่ได้อ้างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ก็ตาม แต่ความผิดฐานดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่มีองค์ประกอบมาจากความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามและประชาชนทั่วไป จึงเท่ากับเป็นการอ้างถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 โดยปริยายแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343วรรคแรกได้ ไม่เป็นการเกินคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share