คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11252/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สิทธิในการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละฝ่าย โจทก์ร่วมจะถือเอาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตขยายระยะเวลาฎีกาให้โจทก์ เป็นสิทธิของตนยื่นฎีกาของโจทก์ร่วมคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 297 ริบไม้กระบองของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นางกรกฎหรือชญานิศวร์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (ที่ถูก มาตรา 297 (8)) จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่กาพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี คุมความประพฤติ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนดและให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ริบไม้กระบองของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หลายครั้ง เนื่องจากส่งหมายนัดแจ้งวันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความไม่ได้ และจำเลยขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จนกระทั่งนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 วันที่ 25 กันยายน 2552 โจทก์มาฟังคำพิพากษา ส่วนโจทก์ร่วมและจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลย และเลื่อนไปนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 วันที่ 30 ตุลาคม 2552 โดยปิดประกาศแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ร่วมทราบที่หน้าศาล ครั้นถึงวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์มาศาล โจทก์ร่วมไม่มาศาล ส่วนจำเลยยังจับตัวไม่ได้ ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ฟัง และอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย โจทก์ร่วมไม่มาศาลทั้งที่ศาลชั้นต้นแจ้งวันนัดให้ทราบโดยชอบแล้ว ถือว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้โจทก์ จำเลย รวมตลอดถึงโจทก์ร่วมฟังโดยชอบแล้วในวันที่ 30 ตุลาคม 2552 คู่ความดังกล่าวมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ปรากฏว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีการวม 3 ครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตขยายระยะเวลาฎีกาจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์และจำเลยไม่ยื่นฎีกา ส่วนโจทก์ร่วมมิได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนนับแต่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และมิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเช่นโจทก์ แต่ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ร่วมวันที่ 23 ธันวาคม 2552 เห็นว่า สิทธิในการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง เป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละฝ่ายเมื่อโจทก์ร่วมเป็นคู่ความฝ่ายหนึ่งในคดีมีสิทธิในการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หากประสงค์จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ชอบที่ยื่นฎีกาคัดค้านภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 216 วรรคหนึ่ง หรือหากยื่นฎีกาไม่ทันระยะเวลาหนึ่งเดือนดังกล่าว ชอบที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเช่นเดียวกับโจทก์ เมื่อสิทธิในการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละฝ่าย โจทก์ร่วมจะถือเอาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตขยายระยะเวลาฎีกาให้โจทก์ถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นสิทธิของตนยื่นฎีกาของโจทก์ร่วมในวันที่ 21 ธันวาคม 2552 คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาหนึ่งเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษายกฎีกาโจทก์ร่วม

Share