คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 96 แปลง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษา ตามคำร้องขอของโจทก์ จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 267 วรรคสอง หรือใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุด ที่ดิน 96 แปลง
ในระหว่างที่ศาลมีคำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวนั้น ศาลมีคำพิพากษาตามยอมในคดีอื่นให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งถูกอายัดชั่วคราวบางแปลงให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่สอง ขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 จะได้รับในการโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าว ดังนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราว จึงเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการที่โจทก์จะบังคับคดีได้ เมื่อต่อมาปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นสั่งอายัดชั่วคราวได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวจนทำให้คำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวไร้ผล และทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินจากการบังคับคดีของเจ้าหนี้ จึงถือเสมือนว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาแทนที่ที่ดินที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ประกอบกับเงินเป็นทรัพย์ที่สามารถยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นโดยง่าย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องและบังคับจำนองทรัพย์ของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์คืนโฉนดที่ดินเลขที่ 1033, 37911 ถึง 38073, 38097 ถึง 38137, 38175, 38176, 38211 ถึง 38272, 38274, 38275 และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1034 ถึง 1041, 1049, 1050, 4693, 22520, 33284, 33284, 38074 ถึง 38096, 38138 ถึง 38074, 38177 ถึง 38260, 38273, 38276, 38277, 22519, 22522, 1045 และ 16142 แก่จำเลยที่ 1
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินขอให้ยึดหรือห้ามทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 96 แปลง
ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนมีคำสั่งอายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ศาลได้มีคำสั่งห้ามทำนิติกรรมชั่วคราวไว้จำนวน 96 แปลง และให้อายัดเงินสุทธิที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำสำนักงานบังคับคดีจังหวัดปทุมธานีอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดที่ดินในจำนวน 96 แปลง ดังกล่าว ไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น อนึ่งบรรดารายชื่อของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและภูมิลำเนา ให้ถือตามคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งห้ามชั่วคราวและหนังสือของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีในสำนวน
จำเลยที่ 1 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่ามีเหตุสมควรยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 ที่ได้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับตามคำร้องขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวน และมีคำสั่งให้อายัดที่ดินของจำเลยที่ 1 รวม 96 แปลง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2539 ตามคำร้องขอของโจทก์ โดยศาลชั้นต้น เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์มีมูลและมีเหตุผลเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามที่โจทก์ขอมาใช้ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็มิได้ยื่นคำขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 267 วรรคสอง หรือใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 228 วรรคสอง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุด ที่ดิน 96 แปลง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดชั่วคราว จึงเป็นหลักประกันเบื้องต้นในการที่โจทก์จะบังคับคดีได้ เมื่อต่อมาปรากฏว่าข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวทรัพย์ที่ศาลชั้นต้นอายัดชั่วคราวได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิบังคับคดีแก่ที่ดินดังกล่าวจนทำให้คำสั่งอายัดที่ดินชั่วคราวไร้ผล และทำให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะได้รับเงินจากการบังคับคดีของเจ้าหนี้ จึงถือเสมือนว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 ได้มาแทนที่ที่ดินที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ประกอบกับเงินเป็นทรัพย์ที่สามารถยักย้ายถ่ายเทหรือปิดบังซ่อนเร้นโดยง่าย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดเงินดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนพิพากษา ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าการที่โจทก์ยึดถือโฉนดที่ดิน 96 ฉบับ ที่จดทะเบียนปลอดจำนองเป็นการขัดต่อกฎหมายตามกฎหมายตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 18 และจำเลยที่ 1 มีสิทธิติดตามเอาคืนและขัดขวางมิให้โจทก์เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งให้อายัดที่ดิน 96 แปลง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษานั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน จนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุดดังได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาต่อไป แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนและมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่สองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 นั้น เห็นว่า การขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งแรก โจทก์ขอให้อายัดที่ดิน 96 แปลง ของจำเลยที่ 1 ส่วนการขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาครั้งที่สอง โจทก์ขอให้อายัดเงินที่จำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับจากการที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกอายัดให้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นเหตุที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังเป็นคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืนเฉพาะที่เกี่ยวกับฎีกาของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ และให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 4 กับให้ยกฎีกาจำเลยที่ 4 คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นฎีกาแก่จำเลยที่ 4 ส่วนค่าทนายความชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share