คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2116/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้างเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ดังนั้นเมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ดังกล่าวสูงเกินส่วนศาลย่อมให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2530 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ให้ทำการซ่อมรถเข็นผู้ป่วยนอนจำนวน 10 คันตามแบบรูปและรายละเอียดแนบท้ายสัญญา ในราคา 50,000 บาทกำหนดให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2530หากจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานล่าช้า แต่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวัน วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันส่งมอบงานเสร็จหากโจทก์บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันริบหลักประกัน และเรียกเอาค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำในวันทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาบางจาก จำนวนเงิน 5,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา เมื่อครบกำหนดส่งมอบงานแล้วจำเลยที่ 1 ทำงานไม่แล้วเสร็จตามสัญญา โดยส่งมอบรถเข็นผู้ป่วยนอนให้โจทก์เพียง 1 คันเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2530 โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการซ่อมและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ถึง 3 ครั้งแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่22 ธันวาคม 2531 ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 ขอให้ชำระเบี้ยปรับเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 587 วัน ในอัตราวันละ100 บาท เป็นเงิน 58,700 บาท ส่วนรถเข็นผู้ป่วยนอนที่เหลือจำนวน 9 คัน โจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดโอลิมปิคประดิษฐกรรมให้เป็นผู้จัดการซ่อมเป็นเงินทั้งสิ้น 88,200 บาท สูงกว่าที่ได้ทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 38,200 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1ต้องรับผิดอีกด้วย จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 99,254.48 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยทั้งสองต้องชำระค่าปรับให้โจทก์เป็นรายวัน แต่ที่โจทก์ขอปรับจำเลยทั้งสองรวม 587 วัน เป็นเงินรวม 58,700 บาท นั้นเห็นสมควรให้ปรับเพียง 225 วัน เป็นเงิน22,500 บาท และจำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะโจทก์ต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดโอลิมปิคประดิษฐกรรมซ่อมรถเข็นผู้ป่วยนอนของโจทก์เป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น 38,200 บาทพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 60,700 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2533) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สมควรกำหนดค่าปรับรายวันให้โจทก์290 วัน เป็นเงิน 29,000 บาท พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยใช้ค่าปรับและค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 67,200 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3ข้อ 22 โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองรวม 587 วันเป็นเงิน 58,700 บาท การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้โจทก์290 วัน เป็นเงิน 29,000 บาท เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่าค่าปรับรายวันตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 22 เป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาจ้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ดังนั้นเมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าเบี้ยปรับตามที่กำหนดไว้ดังกล่าวสูงเกินส่วนศาลอุทธรณ์ย่อมให้ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก
พิพากษายืน

Share