คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22741/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง โจทก์บรรยายฟ้องความผิดทั้งสองฐานรวมมาในฟ้องข้อ ค. ว่า เหตุที่จำเลยทั้งสี่กระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 นั้น ก็เพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์พาหรือเพื่อให้ยื่นให้ทรัพย์นั้น หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างเรียงกระทงลงโทษความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความเสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาให้ได้รับประโยชน์ดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 310, 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,550,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานปล้นทรัพย์และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคแรก, 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปล้นทรัพย์ จำคุกคนละ 15 ปี คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 10 ปี ฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 1 ปี รวมสองกระทงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 11 ปี และจำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 11 ปี 6 เดือน ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,550,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 คำขออื่นสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้ยก ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ขับรถบรรทุกยางแท่ง 430 แท่ง น้ำหนัก 15,050 กิโลกรัม ราคา 1,550,150 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 จากโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ที่จังหวัดชลบุรีไปส่งที่บริษัทไฮฮีโร่ จำกัด ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ผู้เสียหายที่ 2 ขับรถไปถึงเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา และจอดรถรออยู่ที่ริมถนนใกล้ป้อมยามหน้าประตูบริษัทไฮฮีโร่ จำกัด แล้วนอนพักผ่อนอยู่ในเก๋งหน้ารถบรรทุกเพื่อรอส่งสินค้าในเวลา 8 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ต่อมาเวลาเที่ยงคืนเศษ จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอีก 3 คน ขับรถจักรยานยนต์ 1 คัน และรถกระบะมีไฟสัญญาณฉุกเฉินติดไว้บนหลังคา 1 คัน ไปจอดที่ท้ายรถบรรทุกของผู้เสียหายที่ 2 แล้วร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 โดยสวมกุญแจมือพาผู้เสียหายที่ 2 ขึ้นรถกระบะไปกักขังไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 ที่ตำบลคู้สลอด อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปล้นยางแท่ง 430 แท่ง หนัก 15,050 กิโลกรัม ราคา 1,550,150 บาท และเงิน 750 บาท ของผู้เสียหายที่ 1 ที่มอบให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้ว่าจ้างขนถ่ายยางแท่งลงจากรถไปด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์ คดีของจำเลยที่ 1 จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ไม่ฎีกา คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 สำหรับคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 4 และข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ข้อหาพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผย ไม่มีเหตุสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์โดยแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ โดยมีอาวุธปืน และโดยใช้ยานพาหนะของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นของจำเลยที่ 3 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า พยานโจทก์มีพิรุธควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังนั้น โจทก์บรรยายฟ้องความผิดทั้งสองฐานรวมกันว่า เหตุที่จำเลยทั้งสี่กระทำการหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 นั้น ก็เพื่อสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ พาหรือเพื่อให้ยื่นให้ทรัพย์นั้น หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นกรรมเดียวกัน ที่ศาลล่างเรียงกระทงลงโทษความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขัง จึงยังไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ และเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลย ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมิได้ฎีกาให้ได้รับประโยชน์ดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานปล้นทรัพย์และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฐานปล้นทรัพย์ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด โดยกำหนดโทษและลดโทษตามคำพิพากษาศาลล่างแล้ว จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 10 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share