คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15066/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก เขตปกครองเรนเซลาเออร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคำพิพากษาว่าจำเลยเป็นบิดาของเด็กชาย อ. บุตรผู้เยาว์ และให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กชาย อ. เป็นรายเดือนแก่โจทก์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้เป็นไปตามสัญญา การที่จำเลยกลับมาประเทศไทยโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วโจทก์มายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้จำเลยชำระเงินตามที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อข้อ 6 แห่งสัญญาระบุว่า สัญญานี้จะผูกพัน โจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีว่าประสงค์จะให้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใด บังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ หรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี…” เมื่อข้อสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และคำสั่งศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 22,746,649.93 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูรายเดือน เดือนละ 3,472.88 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 128,045.09 บาท นับแต่เดือนธันวาคม 2549 เป็นต้นไป และให้ชำระเงินเบี้ยประกันชีวิตรายปี ปีละ 5,400 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 199,098 บาท แก่โจทก์นับแต่ปี 2550 เป็นต้นไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะมีอายุครบ 21 ปีบริบูรณ์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 477,972.85 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูบุตรรายเดือน เดือนละ 3,450 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ โดยการชำระหนี้ให้คิดเป็นเงินไทย ตามอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นอัตราขายโดยเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานคร ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงิน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรรายเดือนให้จำเลยชำระเดือนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้เยาว์ นับแต่เดือนธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะอายุ 21 ปีบริบูรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า กรณีจึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่าผลแห่งสัญญาดังกล่าวจะต้องบังคับตามกฎหมายของประเทศใด เห็นว่า การที่โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลดังกล่าว โดยในสัญญาข้อที่ 6 ระบุว่า สัญญานี้จะผูกพันโจทก์จำเลยและบุตรผู้เยาว์ให้เป็นไปตามมาตรา 516 ของกฎหมายศาลครอบครัว ย่อมเห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีได้ว่าประสงค์จะใช้กฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับ ในกรณีนี้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้นให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี…” ประกอบกับเมื่อพิจารณาข้อสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำแปลท้าย ซึ่งจำเลยไม่ได้แย้งความถูกต้องของการแปลแล้ว เห็นว่า ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนชาวไทยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลไทยจึงรับพิจารณาคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวได้ แม้โจทก์และจำเลยจะมีข้อตกลงหรือเงื่อนไขว่าจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวต่อเมื่อผลการทดสอบตามวิธีการที่กำหนดไว้ยืนยันว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ แต่ข้อตกลงหรือเงื่อนไขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ซึ่งในข้อที่ 1 กล่าวถึงผลการทดสอบว่าหากแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์โดยถือค่าความเป็นไปได้ร้อยละ 95 ขึ้นไป ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามสัญญา กล่าวคือ จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา และในข้อที่ 7 กล่าวถึงอำนาจการตัดสินคดีของศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กว่าสัญญานี้และคำสั่งอื่นใดอันรวมเข้ากับสัญญาจะต้องได้รับการเห็นคุณค่า ผูกมัด เป็นที่สุด เด็ดขาด และสามารถบังคับได้ในศาลที่เหมาะสมของต่างประเทศอื่นใด เมื่อศาลดังกล่าวมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ (พร้อมคำแปล) ภายหลังจากที่ผลตรวจหาความเป็นบิดา ยืนยันได้ว่าจำเลยเป็นบิดาของผู้เยาว์แล้ว จำเลยจึงต้องผูกพันตามสัญญาและคำสั่งศาลดังกล่าว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาและคำสั่งศาลดังกล่าวได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ปัญหาตามฎีกาของจำเลยในประการต่อมาในข้อที่ว่าค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เยาว์ โจทก์จะฟ้องเองไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1565 บัญญัติไว้ว่า การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้ว บิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ จึงเป็นมาตราที่ให้อำนาจบิดาหรือมารดาฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยมิได้ฟ้องในนามของบุตร หรือในฐานะเป็นผู้แทนบุตรแต่เป็นการฟ้องในฐานะที่ตนเองเป็นบิดาหรือมารดาและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร แม้โจทก์ไม่ระบุในคำฟ้องว่าโจทก์ในฐานะมารดาผู้กระทำการแทนบุตร โจทก์ก็มีอำนาจฟ้อง อีกทั้งคดีนี้โจทก์และจำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีสิทธิฟ้องจำเลยได้โดยตรงอีกด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของจำเลยข้อที่ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (4) ซึ่งที่ถูก คือมาตรา 193/33 (4) นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากจำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ในกรณีนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดอายุความฟ้องคดีไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ตามมาตรา 193/32 ซึ่งบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดย……..หรือโดยสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ทั้งนี้ ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด” เมื่อศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์กมีคำสั่งตาม ลงวันที่ 3 มิถุนายน 2540 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญาดังกล่าว จึงเกิดมีขึ้นตั้งแต่นั้น นับถึงวันฟ้องเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2549 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาของจำเลยข้อที่ว่าพยานเอกสารของโจทก์ เป็นเพียงสำเนาเอกสารที่รับรองโดยเจ้าหน้าที่ของศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก จำเลยไม่ได้รับรองว่าถูกต้อง และเอกสารดังกล่าวไม่ได้รับรองโดยรัฐมนตรี หัวหน้ากรม กอง หัวหน้าแผนกหรือผู้รักษาการแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (1) และ (3) จึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า ต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในสำนวนความของศาลครอบครัวแห่งรัฐนิวยอร์ก ซึ่งศาลดังกล่าวต้องเก็บรักษาไว้ โจทก์จึงไม่สามารถนำต้นฉบับเอกสารดังกล่าวมาอ้างเป็นพยานได้ อันเป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 (2) ที่ให้ศาลรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ ตามคำร้องคัดค้านของจำเลยลงวันที่ 3 กันยายน 2550 ก็รับว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวได้รับรองโดยเจ้าหน้าที่ของศาลดังกล่าวแล้ว สำเนาเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้
ส่วนฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายข้อที่ว่า จำเลยย้ายภูมิลำเนามาอยู่ในประเทศไทยแล้ว แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในกรณีนี้จำเลยจะต้องชำระเงินตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐหรือไม่ เป็นกรณีไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งของคู่สัญญาจึงต้องใช้กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันของคู่สัญญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 ซึ่งกฎหมายที่ใช้บังคับคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำในต่างประเทศอันเป็นการคิดตามอัตราค่าครองชีพในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ในข้อนี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบตั้งแต่ศาลชั้นต้น เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนฎีกาข้อที่ว่า รายได้จากการประกอบอาชีพแพทย์ของจำเลยในประเทศไทยลดลงจึงสมควรกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามรายได้ของจำเลยที่เปลี่ยนแปลงไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/39 วรรคหนึ่ง เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะส่วนที่กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือน เดือนละ 3,150 ดอลลาร์สหรัฐ ว่าเป็นการกำหนดตามค่าครองชีพในศาลต่างประเทศคือประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีค่าครองชีพสูงกว่าในประเทศไทย ในทำนองว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือนนั้นสูงเกินไป สำหรับเงินในส่วนอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดจำเลยไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งเฉพาะค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือนตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ลดลงเหลือเดือนละ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ นับแต่เดือนธันวาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าผู้เยาว์จะอายุครบ 21 ปี บริบูรณ์ ในข้อนี้โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้อที่ 16 กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ และให้ปรับเพิ่มทุก 3 ปี ตามดัชนีผู้บริโภค ซึ่งศาลชั้นต้นเห็นว่า ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่โจทก์ปรับเพิ่มขึ้นนั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่าดัชนีผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างไร จึงกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรซึ่งตามสัญญาในข้อดังกล่าวได้กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรขั้นต่ำต่อเดือนไว้แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรต่อเดือนต่ำกว่านั้นนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยแล้ว โดยที่สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทำขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่บุตรผู้เยาว์กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในประเทศดังกล่าว ซึ่งมีค่าครองชีพสูงกว่าประเทศไทยมาก จำเลยย่อมทราบดี ประกอบกับจำเลยประกอบอาชีพแพทย์ในประเทศดังกล่าวย่อมมีรายได้เพียงพอที่จะชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์และค่าใช้จ่ายอื่นตามสัญญาได้จึงตกลงทำสัญญากับโจทก์เช่นนั้น แต่เมื่อผลการตรวจหาความเป็นบิดายืนยันได้ว่าจำเลยเป็นบิดาของบุตรผู้เยาว์ จำเลยกลับไม่ยอมรับผิดชอบและย้ายมาอยู่ประเทศไทย อันเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามสัญญาและคำสั่งศาล เช่นนี้จำเลยจะอ้างว่ารายได้จากการประกอบอาชีพแพทย์ของจำเลยลดลง และถือเป็นเหตุให้ศาลลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ลงอีก ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะรับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท

Share