แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 บัญญัติห้ามนายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ไม่เชื่อฟัง และแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของบริษัท ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่การงาน ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานด้วยการตัดค่าจ้างนั้น การลงโทษของจำเลยมิใช่เป็นการหักค่าจ้างโจทก์แต่เป็นกรณีการลงโทษตามวินัยการทำงานซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ทั้งไม่ปรากฏว่าคำสั่งตัดค่าจ้างของจำเลยเป็นคำสั่งลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดเงินเดือน โดยมีวิธีการตัดเงินเดือนด้วยการจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เต็มจำนวนแล้วให้โจทก์ส่งเงินค่าจ้างคืนแก่จำเลย เป็นเพียงคำสั่งในการบังคับตามโทษทางวินัย แม้โจทก์จะได้รับทราบคำสั่งแล้วก็ตาม หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษจำเลยก็ชอบที่จะบังคับตามคำสั่งลงโทษได้ด้วยวิธีอื่นเนื่องจากข้อบังคับของจำเลยไม่ได้กำหนดวิธีหักเงินเดือนไว้ การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าจ้างมาคืนจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยมีหนังสือตักเตือนแล้วจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์
ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยในค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 3,290 บาท ค่าชดเชย 56,400 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 9,635 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 63,450 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของเงินค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชย หรือให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราเงินเดือนเดิมโดยนับอายุงานต่อเนื่องจากอายุเดิม และให้จ่ายค่าจ้างนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 56,400 บาท และค่าจ้างค้างจ่าย 3,290 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 กันยายน 2549) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยตำแหน่งสุดท้ายเป็นลูกจ้างรายวัน ปฏิบัติหน้าที่ติดรถยนต์นำจ่ายด้านพิเศษ 6 ที่ทำการไปรษณีย์จตุจักร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 235 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 1 ของเดือน ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2549 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โดยให้มีผลวันที่ 14 กันยายน 2549 ระหว่างทำงานจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 1 ถึง 14 กันยายน 2549 เป็นเงิน 3,290 บาท ขณะเกิดเหตุ โจทก์สังกัดส่วนนำจ่ายด้านพิเศษ 6 ที่ทำการไปรษณีย์จตุจักร มีนางนุชศราเป็นผู้บังคับบัญชา มีนายอุกฤษฎ์เป็นหัวหน้าที่ทำการไปรษณีย์จตุจักร ที่ทำการไปรษณีย์จตุจักร เป็นสำนักงานให้บริการทางด้านไปรษณีย์ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายวิศาล ผู้จัดการสำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ ก่อนเลิกจ้าง นายวิศาล ผู้จัดการสำนักงานไปรษณีย์นครหลวงเหนือ มีคำสั่งลงโทษทางวินัยโจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรก มีคำสั่งที่ 114/2548 ลงวันที่ 29 สิงหาคม 2548 ลงโทษโจทก์ด้วยการตัดค่าจ้างของเดือนกันยายน 2548 ในอัตราร้อยละ 10 แต่โจทก์ไม่ยอมส่งเงินค่าจ้างคืนจำเลย ครั้งที่สองมีคำสั่งที่ 71/2548 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2549 ลงโทษโจทก์ด้วยการตัดค่าจ้างเดือนสิงหาคม 2549 อีกร้อยละ 10 มีหนังสือเตือนโจทก์ 2 ฉบับ ฉบับแรกเตือนว่าหากโจทก์ทำผิดวินัยอาจถูกพิจารณาเลิกจ้างได้ ฉบับที่สองแจ้งเตือนให้โจทก์ส่งเงินค่าจ้างของเดือนกันยายน 2548 ร้อยละ 10 คืนภายใน 3 วัน หากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกเลิกจ้างได้ แต่โจทก์ไม่ยอมลงนามรับทราบคำสั่งที่ 71/2549 ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2549
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า คำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดค่าจ้างร้อยละ 10 เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงแม้จะปรากฏว่ามีประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ ข้อ 31 จะบัญญัติห้ามนายจ้างหักค่าจ้างลูกจ้างก็ตาม แต่การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ไม่เชื่อฟังและแสดงความกระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ไม่ถือปฏิบัติตามระเบียบและแบบธรรมเนียมของบริษัท ไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่การงาน ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานด้วยการตัดค่าจ้างของเดือนกันยายน 2548 ในอัตราร้อยละ 10 นั้น การลงโทษของจำเลยมิใช่เป็นการหักค่าจ้างโจทก์แต่เป็นกรณีการลงโทษตามวินัยการทำงานซึ่งได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อ 53.2 ทั้งไม่ปรากฏว่าคำสั่งตัดค่าจ้างของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ ดังนั้น คำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดค่าจ้างร้อยละ 10 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยได้มีคำสั่งลงโทษโจทก์โดยการตัดเงินเดือนโจทก์ในเดือนสิงหาคม 2549 ในอัตราร้อยละ 10 และมีหนังสือเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษโดยให้ส่งเงินเดือนร้อยละ 10 แก่จำเลยและจำเลยแจ้งคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมลงนามรับทราบคำเตือน ต่อมาโจทก์ไม่ส่งเงินคืนแก่จำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ทำผิดซ้ำคำเตือน คำสั่งเลิกจ้างของจำเลยจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการตัดเงินเดือนในเดือนกันยายน 2548 โดยมีวิธีการตัดเงินเดือนด้วยการจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เต็มจำนวนแล้วให้โจทก์ส่งเงินค่าจ้างคืนแก่จำเลย แม้เป็นคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็เป็นเพียงคำสั่งในการบังคับตามโทษทางวินัยที่โจทก์ได้รับ แม้โจทก์จะได้รับทราบคำสั่งด้วยการฟังคำสั่งจากนายอุกฤษฎ์ตัวแทนจำเลยแล้วก็ตาม แต่หากต่อมาโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษของจำเลย จำเลยก็ชอบที่จะบังคับตามคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ได้ด้วยวิธีอื่น เช่น การหักจากค่าจ้างของโจทก์ในเดือนถัดไปเนื่องจากระเบียบข้อบังคับจำเลยมิได้กำหนดวิธีหักเงินเดือนไว้ การที่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษทางวินัยด้วยการไม่นำเงินค่าจ้างมาคืนแก่จำเลยจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและจำเลยมีหนังสือตักเตือนแล้วจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องจ่ายดอกเบี้ยในค่าชดเชยและค่าจ้างค้างจ่ายอัตราร้อยละ 15 ต่อปี หรือไม่ เห็นว่า ไม่มีบทกฎหมายใดให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง