คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13823/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมขอให้สั่งจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าน้ำมันรถยนต์และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยร่วมสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 15/2550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2550 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินต่าง ๆ ข้างต้น และส่งคำสั่งไปให้โจทก์รับทราบในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ส่วนวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ไม่ใช่วันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คงเป็นแต่เพียงวันที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้โจทก์เรียบเรียงทำคำฟ้องซึ่งมีการแก้ไขหลายครั้งนำมายื่นต่อศาลใหม่ ถือได้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และบังคับจำเลยให้รับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมหรือไม่ต่ำกว่าตำแหน่งเดิม อัตราค่าจ้างและสวัสดิการเท่าเดิม โดยนับอายุงานต่อเนื่อง หากไม่สามารถรับกลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1,640,700 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วัน เป็นเงิน 45,575 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ค่าจ้างค้างจ่าย 17,671.50 บาท กับค่าชดเชย 136,725 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ทุก 7 วัน นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องฉบับเดียวกันขอแก้ไขคำฟ้องและขอให้หมายเรียกนายบรรจง พนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 2 เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลย
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง และยกคำขอของจำเลยที่ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการส่วนขาย อัตราค่าจ้างเดือนละ 38,325 บาท ค่าน้ำมันรถยนต์เดือนละ 6,000 บาท และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เดือนละ 1,250 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน ขอให้มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าน้ำมันรถยนต์ และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่โจทก์ จำเลยร่วมมีคำสั่งที่ 15/2550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2550 ว่าโจทก์ขอลากิจวันที่ 16 ถึง 18 พฤศจิกายน 2549 เพื่อไปร่วมงานศพมารดาของเพื่อน ผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาตเพราะโจทก์มีหน้าที่ต้องยื่นซองประมูลราคางานแทนจำเลยต่อลูกค้าในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งมีมูลค่าของงานมาก แต่โจทก์ก็ยังหยุดงานไป กรณีถือได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าน้ำมันรถยนต์และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ใช่ค่าจ้างหรือเงินอย่างอื่นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างได้ โจทก์รับทราบคำสั่งของจำเลยร่วมครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 และครั้งที่สองเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำเลยร่วมดังกล่าว โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องหลายครั้งเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2550 วันที่ 23 มีนาคม 2550 และวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งให้โจทก์ทำคำฟ้องนำมายื่นต่อศาลใหม่ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2550
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ 15/2550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2550 เกินกำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยร่วมในฐานะพนักงานตรวจแรงงานขอให้สั่งจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าน้ำมันรถยนต์ และค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเลยร่วมสอบสวนแล้วมีคำสั่งที่ 15/2550 ลงวันที่ 26 มกราคม 2550 ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ข้างต้น และส่งคำสั่งไปให้โจทก์รับทราบในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2550 โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด ส่วนวันที่ 18 พฤษภาคม 2550 ไม่ใช่วันที่โจทก์ยื่นฟ้อง คงเป็นแต่เพียงวันที่ศาลแรงงานกลางสั่งให้โจทก์เรียบเรียงทำคำฟ้องซึ่งมีการแก้ไขหลายครั้งนำมายื่นต่อศาลใหม่ ถือได้ว่าโจทก์ยื่นฟ้องชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลแรงงานกลางต้องพิจารณาพิพากษาคดีตามประเด็นพิพาทต่อไป ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นฟ้องเกินกำหนด หลังจากคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานถึงที่สุด และไม่วินิจฉัยประเด็นพิพาท ข้อ 1 ถึงข้อ 5 อีกต่อไป แล้วพิพากษายกฟ้อง ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาท ข้อ 1 ถึงข้อ 5 แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share