คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9823/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี ประการแรก เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงหรือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ประการที่สาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาบ้าง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 506,425 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ เฉพาะจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในต้นเงินไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเมื่อคิดคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 25 พฤษภาคม 2536) ต้องไม่เกิน 40,344 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการยึดทรัพย์ดังกล่าวไว้ก่อนเพราะชื่อสถานที่ไม่ตรงกับจำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ได้ยึดทรัพย์ดังกล่าว ดังนี้ แม้โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดก็ตาม แต่การนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ แต่ของดการยึดทรัพย์ย่อมเท่ากับไม่มีการยึดทรัพย์ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงใหม่อีกครั้งเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 506,425 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ เฉพาะจำเลยที่ 4 ให้รับผิดในต้นเงินไม่เกิน 50,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยเมื่อคิดคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 25 พฤษภาคม 2536) ต้องไม่เกิน 40,344 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท ต่อมาจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดจรูญขนส่งภาคใต้ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 แต่มีปัญหาว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวเป็นจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์จึงขอตรวจสอบหนังสือรับรองของจำเลยที่ 3 นำส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีต่อไป และโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการยึดทรัพย์ในวันดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่งดการบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ต่อไป
ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยที่ 3 ในวันที่ 15 ธันวาคม 2547 อันเป็นวันครบกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2537 แต่โจทก์ได้แถลงของดการยึดทรัพย์ ซึ่งมีผลเท่ากับฝ่ายโจทก์ไม่เคยยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 การที่โจทก์ขอนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ในวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ย่อมเป็นการร้องขอบังคับเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น” ตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการบังคับคดีให้ครบถ้วนภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น โดยประการแรก เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี ประการที่สอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงหรือแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว ประการที่สาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ดำเนินการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาบ้าง ข้อเท็จจริงคดีนี้แม้โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2547 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดก็ตาม (นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2538) แต่โจทก์แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีของดการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ไว้ก่อนเพราะชื่อสถานที่ไม่ตรงกับจำเลยที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ในวันดังกล่าว ดังนั้นการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ แต่ได้ของดการยึดทรัพย์ในวันดังกล่าวไว้เท่ากับไม่มีการยึดทรัพย์ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ดำเนินการบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 8 สิงหาคม 2550 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 3 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share